Tuesday, May 27, 2014

Samosir Part I


การท่องเที่ยวที่ Parapat มี highlight คือ การล่องเรือชม Lake Toba ไปเที่ยวบนเกาะ Samosir

อย่างที่เคยเล่าไว้ เกาะ Samosir มีขนาดใหญ่มาก...เกือบเท่าสิงคโปร์ทั้งเกาะ แต่ว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ก็จะอยู่แค่ตามที่ราบ ติดกับทะเล และด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงด้านหลัง เดินทางติดต่อกันลำบาก ผู้คนก็จะแบ่งแยกเป็นเผ่าเล็กๆ ย่อยๆ มีหัวหน้าเผ่า หรือ พระราชา เป็นจุดๆ ไป

การเดินทางจาก Parapat ไปเกาะ Samosir จะมีบริการเรือเช่าเหมาลำ เรือที่นั่งไปขนาดก็ประมาณเรือเมล์ไปเกาะเสม็ดหรือเกาะสีชัง สปีดโบ๊ตก็เห็นอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะได้รับความนิยม เรือเป็นเรือ 2 ชั้นนะคะ ดูแล้วก็ปลอดภัยดี แต่...มันมีแต่ เราสังเกตเห็นคนขับเรือ คือ เด็กมาก...ป.5-6 ไม่เกิน ม.ต้น แน่นอน พ่อน้องเค้า (คิดว่านะ) นอนเล่นอยู่หัวเรือค่า ปล่อยให้ลูกชายขับเรือเองเลย น้องเฟี้ยวสุดอ่ะ สูบบุหรี่ด้วย นี่คงเป็นอิทธิพลของสังคมสินะ




บนเรือมีการแสดงด้วยนะ เป็นวณิพกตัวน้อย มากัน 3 คน ตัวเล็กสุดคือขำมาก ร้องไม่เป็นหรอก อาศัยดำน้ำตามพี่ๆ ไป ปรบมือเข้าจังหวะอย่างเดียว เพลงส่วนใหญ่จะมีจังหวะสนุกสนาน คึกครื้น ลุงหลาดบอกว่าเพลงที่เค้าร้องเป็นภาษาท้องถิ่นของ Batak Toba บางคำลุงก็ฟังไม่ออก แต่มีอยู่เพลงนึง ลุงหลาดรู้จัก ลุงก็แนะนำว่า เออ เพลงต่อไปจะเป็นเพลงแบบอกหักนะ สาวทิ้ง กินเหล้าแก้กลุ้ม อะไรแบบนั้น เราก็ เออๆ คงจะช้าๆ เศร้าๆ สินะ     เปล๊า....ทำนองเพลงดูคึกคักเหมือนเดิม ตกลงนี่เศร้าแล้วนะ ถ้าลุงไม่บอก ก็คงไม่รู้แน่ๆ แต่เราจำชื่อเพลงไม่ได้แล้ว ขออภัย






แบบนี้คล้ายๆ กับเพลง k-pop ของเกาหลีเลย คือมีหลายเพลงมาก ตอนแรกฟัง เออ คึกคักดีนะ ออกสเต็ปเต้นด้วย อย่างมัน พอไปดูเนื้อร้อง อ่าว...แกถูกทิ้งนี่ อกหักนะ อกหักแต่หน้าตาคนร้องยังสดใสขนาดนี้ มันใช่ไหมละนั่น อยากรู้ว่าประมาณไหน ลองฟังเพลงนี้ คือฟังอย่างเดียวไม่รู้ความหมายเนื้อร้องนี่ไม่รู้เลยว่าเศร้าอยู่

















จุดที่แวะไปเที่ยวบนเกาะ Samosir มี 2 จุด เป็นหมู่บ้าน Batak 2 เผ่าสำคัญ

หมู่บ้านแรกชื่อ อัมบาริต้า (Ambarita) ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ชื่อ ซีอัลลากัน (Siallagan Kingdom) ที่นี่โด่งดังในเรื่อง เป็นเผ่าที่กินเนื้อมนุษย์...โอย เอาจริง เดินเข้าไปนี่มีเสียวๆ

เผ่านี้จะมีการตัดสินโทษศัตรู เช่น เป็นสายลับเข้ามาจากเผ่าอื่น หรือ ทำความผิดอย่างข่มขืนผู้หญิงในเผ่า ก็จะถูกนำตัวมาขึ้นศาล ให้พระราชาตัดสิน ถ้าตัดสินให้ประหาร ก็จะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้ชาวบ้านตุนน้ำจืดจากทะเลสาบเอาไว้ พอถึงวันประหาร ก็จะมีพิธีกรรม ให้พ่อหมอมาขับไล่ไสยศาสตร์หรือเวทมนตร์ดำจากตัวของนักโทษก่อน (เค้าว่าถ้ามีเวทมนตร์ดำจะฆ่าไม่ตาย แทงไม่เข้า)

อ่านตอนนี้ ใครเริ่มกลัวๆ ไปเปิดเพลง ตวีตวี ปังปัง ข้างบนฟังนะ เพลงเค้าอกหัก แต่โจ๊ะๆ ดี จะได้สบายใจขึ้น (เหรอ...)

กลับมาๆ วิธีประหารก็ธรรมดา มีเพชฌฆาตฟันคอฉับ! ทีเดียวต้องขาด ไม่ขาดเพชฌฆาตก็คอขาดแทน แล้วเอาเลือดสดๆ กับเลาะหัวใจ มาให้พระราชากิน เค้าบอกว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงชัยชนะต่อศัตรู เนื้อส่วนอื่นๆ ก็แบ่งกันกินไปทั้งเผ่า ส่วนที่เหลือก็โยนทิ้งน้ำ และเป็นที่มาว่าทำไมต้องกักตุนน้ำ เพราะน้ำจะดื่มกินไม่ได้เพราะโยนศพทิ้งน้ำไป

นี่คือสถานที่ประหารนักโทษ



ฮือ...เขียนเองก็หลอนเอง ไปจุดอื่นเถอะนะ

พูดถึงบ้านของชาวพื้นเมืองที่นี่ดีกว่า หน้าตาแอบคล้ายๆ บ้าน long house ในตอนก่อนๆ เลย บ้านหนึ่งหลัง อาจอยู่รวมกันหลายครอบครัวได้ (คือสามีภริยาหลายคู่อยู่บ้านหลังเดียวกัน) แต่ที่นี่มีวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวนะ ไม่สลับสับเปลี่ยน




หน้าบ้านหรือตามที่สำคัญๆ จะมีสัญลักษณ์ แสดงถึงความเชื่อของชาวพื้นเมือง อยู่ 2 อย่าง




อย่างแรก จะเห็นตัวกิ้งก่า หรือ ตุ๊กแก หรือ อะไรสักอย่างในตระกูล lizard ตัวนี้คือสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง และเชื่อกันว่า lizard ระวังภัยได้ คือ มันจะร้องเตือนเวลาจะมีอันตราย




อย่างที่สอง คือ เต้านม 4 เต้า เป็นสัญลักษณ์แสดงการนับถือผู้หญิง คือให้เกียรติเพศแม่ ต้องดูแลเป็น 2 เท่า ก็เลยมีถึง 4 เต้า (ละมั้ง อันนี้เติมเอง)


ปิดท้ายวันนี้ ด้วยเพลง Asing sing so ที่เป็นเพลงพื้นเมืองชื่อดัง ดังขนาดเคยเอาไปเป็นการแสดงในพิธีปิดเอเชี่ยนเกมส์ ที่กวางโจว? ซึ่งก็ไม่รู้เกี่ยวกับจีนตรงไหน แต่อันที่หามาให้ดูเป็นคนอินโดร้อง ชื่อเพลงประมาณว่ากำลังพายเรือ เป็นเพลงที่ร้องไป จ้วงพายไป



Sunday, May 25, 2014

Come Closer to Parapat


จากเบอราสตากี แวะชมน้ำตก แวะชมวัง แวะชิม Bandrek กว่าจะถึงที่พักคืนต่อมา เย็นย่ำพอดี



จุดสีแดงก็คือ Parapat แล้วที่เป็นน้ำสีน้ำเงินคือ Lake Toba ทั้งหมด


ถึงสักทีนะ ปาราปั๊ด (Parapat) เค้าออกเสียง ปั๊ด จริงๆ นะ ขึ้นเสียงสูงอ่ะ

Parapat แปลว่า Come Closer ชื่อเมืองก็น่าค้นหาแล้ว เค้าคงอยากให้เราเข้าไปใกล้ๆ เพื่อไปชื่นชมความงามของ Lake Toba

เราบอกคุณนายว่า Parapat ให้อารมณ์เหมือน Hallstat ที่ Austria คุณนายบอกว่าเราเพ้อเจ้อ 55555++

อ้าว มันดูคล้ายๆ กันนา เป็นเมืองริมทะเลสาบ มีภูเขาโอบล้อม มีบ้านไล่ขึ้นไปตามเขา

แต่ยังไงแล้ว Parapat ก็คือ Parapat แต่ละที่ย่อมมีความเป็นตัวของตัวเอง

.............Parapat เมืองเล็กๆ ที่มีวิวไม่ธรรมดา...............

เสียดายไปหน่อยที่ Parapat ไม่ค่อยเป็นใจกับเรา หมอกลงตอนเช้าจัดมาก เลยถ่ายภาพออกมาไม่ค่อยสวย วิวนี้ถ่ายจากโรงแรมที่พัก ซึ่งอยู่สูงสุดในเมือง








แถบ Parapat ผู้คนท้องถิ่น ถูกเรียกว่า บาตั๊ก โตบ้า (Batak Toba) บาตั๊กเค้ามาอีกแล้ว จริงๆ เค้าก็ครอบครองสุมาตราเหนือเกือบทั้งหมดเลยนะ แต่มีเผ่าพันธุ์ย่อยๆ เยอะ

Batak Toba มีคำพูดทักทายที่เป็นเอกลักษณ์ เค้าจะตะโกนคำว่า Holas! Holas! Holas! ด้วยเสียงอันดัง 3 รอบ เราก็ต้องตะโกนกลับไปให้ดังพอกัน

ให้ความรู้เกี่ยวกับ Lake Toba สักหน่อย คือ ขนาดของทะเลสาบมันใหญ่มากๆๆๆ นะ เป็นทะเลสาบที่เกิดจากภูเขาไฟ (Volcano Crater Lake) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภูเขาไฟตรงนี้เกิดระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นมา จนตรงกลางยุบเป็นหลุมไป แล้วพอฝนตกลงมานานๆ ก็กลายเป็นทะเลสาบ แล้วทีนี้ก็เกิดเป็นเกาะกลางทะเลสาบ ชื่อเกาะสามอเซีย (Samosir) ขนาดของเกาะสามอเซียนั้น ใหญ่ประมาณเกาะสิงคโปร์ 1 เกาะ คิดดูแล้วกัน เกาะกลางน้ำ ยังใหญ่จะเท่าประเทศสิงคโปร์เลย แล้วน้ำที่ล้อมรอบมันอีก เป็นภาพธรรมชาติที่แปลกตาดี เหมือนว่าเราปืนเขาไปเรื่อยๆ (ถนนจะไล่ตามขอบ Lake Toba มาเลย) แล้วอยู่ดีๆ ก็ อ้าว...มีน้ำ มีเกาะ

เมือง Parapat คือเมืองท่า ที่คนจะต้องแวะค้างคืน เพื่อไปเที่ยวบนเกาะ Samosir ต่อไป ไว้ตอนหน้า เราจะพาไปเที่ยวบนเกาะ Samosir กัน

สำหรับวันนี้

Holas! Holas! Holas! 


Friday, May 23, 2014

Salam Danau Toba


Salam! แปลว่าสวัสดี

รถบัสเดินทางลงใต้ไปอีกเรื่อยๆ ลองดูจากแผนที่จากตอนเบอราสตากีกับซินาบุงนะ เห็นขอบส่วนบนๆ ของ Lake Toba นั่นแหละ เรามาถึงจุดชมวิวแรกสุดของ Lake Toba กันแล้ว Hooray!!!!

ที่นี่คือน้ำตกซีปิโซ-ปิโซ (Sipiso-piso) สูงมากๆๆๆๆ ไหลลงไปยังทะเลสาบ




ที่นี่มีสัญลักษณ์แสดงความเป็น tourist spot คือ อาคารร้านค้าเรียงรายกันเป็นกลุ่ม ของขายก็ทั่วไป คาดเดาได้ จำพวกของที่ระลึก เสื้อ ผ้าพันคอ มีคำว่า Sipiso-piso บ้าง คำว่า Lake Toba บ้าง คำว่า Brastagi ก็มี คำว่า Parapat ก็มา (ฮั่นแน่ ยังไม่รู้สิว่า Parapat คืออะไร โปรดรออ่านตอนต่อไป ^^)

ของกินก็มีขาย พวกขนมกินเล่น เครื่องดื่มต่างๆ อ่อ มีเรื่องขำๆ คือเวลาซื้อของกับคนท้องถิ่นแบบจะแตกเงินแบงค์ใหญ่ให้เค้าทอนมาอะไรแบบนั้น สิ่งที่จะเจอก็คือ แบงค์ย่อยๆ ส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพเก่า (อันนี้โชคดี) ถ้าเก่าเฉยๆ นี่ถือว่าโชคดีละ แต่บางทีเจอแบบมันไม่ใช่แค่เก่าอ่ะ เรียกได้ว่า พี่ทอนมาเป็นผักต้มจิ้มน้ำพริกหรอคะ? เปรียบเทียบแบบนี้เข้าใจไหม คือแบบหงิกงอเหี่ยวย่นราวกับผ่านสงครามอะไรมา บรรยายยาก ผักต้มนั่นแหละ เห็นภาพเลย...

ชาวบ้านเค้าก็อยากจะกำจัดพวกแบงค์เก่าๆ เลยเอามาทอนให้ ในเมืองไทย เราสามารถเอาธนบัตรเก่า-ชำรุด ไปแลกคืนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไม่ใช่หรอ สงสัยนโยบายนี้ยังไปไม่ถึงอินโดนีเซีย




ความประทับใจ ณ จุดชมวิว ตื่นเต้นๆๆๆ เราเจอกันแล้วนะ Lake Toba เป็น Lake Toba ในมุมสูงๆ สวยดี ดูมันใหญ่โตดีนะ มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เราเริ่มหลงรักเธอแล้วหล่ะ Danau Toba 

ความประทับใจอีกอย่างของที่นี่คือเด็กชาย (ที่กำลังจะกลายเป็น) เด็กแว๊นซ์ คงจะเป็นลูกพ่อค้าแม่ค้า อายุสัก 6-7 ขวบ ประมาณนั้น น้องคงจะมีความฝันที่จะได้ขี่รถเครื่อง - ก็รถที่มีเครื่องไง สงสัยอะไร ภาษากลางเรียกรถจักรยานยนต์ ยาวไป๊ (ขอใช้คำนี้นะ ดูเข้ากับบรรยากาศดี) แต่ปัจจุบันของน้องเค้ายังเป็นแค่จักรยานธรรมดาๆ ก็ต้องอาศัยจินตนาการช่วยไปก่อนนะ ขี่จักรยานพร้อมส่งเสียงเหมือนเบิ้ลเครื่องยนต์อย่างสนุกสนาน แล้วพอเห็นคนมอง โห อะดรินาลีนมันพุ่งๆๆ เร่งเครื่องใหญ่เลยจ้า เอาเถอะนะ น้องมีความสุขก็ทำไปเถอะนะ

บ่นส่งท้าย โค้กกระป๋องที่จุดชมวิว ข้างกระป๋องก็เขียนไว้ว่า 4,500 รูเปีย นะ ขายจริงตั้ง 7,000-8,000 รูเปีย


สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ไหน!!!!


Thursday, May 22, 2014

ว่าด้วยเรื่องของไวอะกร้า


เราโชคดีที่มาเที่ยวอินโดครั้งนี้ ได้ไกด์คนไทยที่มีความรู้และเชี่ยวชาญการนำเที่ยวแถบนี้โดยเฉพาะ คุณลุงไกด์ชื่อคุณลุงฉลาด แกมักจะแทนตัวเองว่า ลุงหลาด ที่บอกว่าโชคดีเพราะลุงหลาดมีเรื่องมาเล่าเกี่ยวกับสถานที่ที่ไปชม และนำมาเล่าให้ฟังแบบสนุก เพลิน หัวร่องอหายกันทั้งคัน ทำให้บรรยากาศการเดินทางรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น เรื่องที่เขียนในตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากคำบอกเล่าของลุงหลาดนี่เอง ไปอ่านกันเลย!

ชาวพื้นเมืองของพื้นที่เกาะสุมาตราตอนเหนือ (North Sumatra) จะเรียกว่า ชาวบาตั๊ก (Batak) ซึ่งก็มีการแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นเผ่าพันธุ์ย่อยๆ อีกมากมาย ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นภูเขา การเดินทางในสมัยก่อนก็คงยากลำบาก แต่ละพื้นที่เลยแบ่งแยกเป็นเผ่าๆ มากมาย จุดมุ่งหมายของเราคือการนั่งรถทัวร์ไต่ขึ้นไปยัง Lake Toba ซึ่งเป็นทะเลสาบที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ทัศนียภาพรอบๆ ระหว่างทางไปนี่ก็รู้สึกว่าคุ้มแล้วนะ คือธรรมชาติมาก แบบต้องไปดูด้วยสายตาตัวเอง ภาพถ่าย หรือ ดูคลิปจากคนอื่นไป มันไม่ซึมซับเท่าการได้ไปเห็นเองนะ แต่บันทึกวันนี้ยังไม่ให้ดูวิวทะเลสาบนะ ยกยอดไปคราวหน้า คราวนี้เรื่องมันยาว

ฟังจากไกด์ (อันนี้พูดตรงกันทั้งลุงหลาดและเอ็ดดี้ไกด์ท้องถิ่นชาวอินโด – เราไม่ได้ใส่ร้ายเค้านะ) เค้าเล่าว่า ชาว Batak เนี่ย เป็นกลุ่มชนที่ผู้ชายขี้เกียจนะ วันๆ ก็นั่งจิบชา พูดคุย ร้องเพลง สังสรรค์ ขี้เกียจจน Dutch (Holland) ที่เป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้น ต้องไปนำเข้าผู้ชายจากเกาะชวา มาทำงาน เพราะพวกนั้นทำงานเก่งกว่า ในครอบครัวภรรยาชาว Batak มีหน้าที่ไปทำงานในไร่ในสวน ตกเย็นก็กลับบ้านทำอาหารให้สามี พูดง่ายๆ คือเกิดเป็นผู้หญิง Batak นี่น่าสงสารสุดๆ


ไหนหล่ะ ไวอะกร้า..ไหนๆ ใครคิดในใจบ้าง



ฮั่นแน่!!!! ใจเย็น ค่อยๆ อ่านไป รับสาระด้วยสิ



เล่าต่อนะ ระหว่างทางที่รถแล่นขึ้นสูงไปเรื่อยๆ ได้แวะไปชมวังของพระราชา Batak เผ่าหนึ่ง ชื่อบาตั๊ก สิมาลุนกุน (Batak Simalungun) ที่เรียกว่าพระราชา หรือ วัง นี่ อย่าคิดว่าวิจิตรอลังการอะไรนะ คือ เค้าก็ชนพื้นเมือง การศึกษาไม่ค่อยดี ความเจริญยังไปไม่ค่อยถึง แต่ถ้าดูระบอบการปกครอง มันก็คือ Absolute Monachy นี่แหละ ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด หรือมีมนต์ดำมากที่สุด ก็จะเป็นผู้ปกครอง จะเรียกว่าพระราชาก็ถือว่าไม่ผิด แต่ภาพจะไม่ใช่พระราชาแบบหรูหราอะไร เผ่าคงไม่ได้ใหญ่โตหรือเจริญมาก จุดที่เป็นที่ตั้งวัง เค้าเรียกว่า เปอมาตัง พูบ้า (Pematung Purba) น่าจะเป็นชื่อหมู่บ้าน

ยุคที่ Dutch เข้ามา สิ่งที่ชาวพื้นเมือง Batak ได้รับมา เป็นที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ศาสนา พวกนี้นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Roman Catholic เรื่องตำนานก็คือ มี missionary คนหนึ่งมารักษาโรคให้ชาวบ้านแล้วหาย ชาวบ้านก็ถามว่าทำไมถึงหาย missionary ก็ตอบว่าเพราะ believe in god ชาว Batak ก็เลยหันมานับถือคริสตศาสนา

กลับมาที่วัง Batak Simalungun ราชวงศ์ของตระกูลนี้มีกษัตริย์ 14 พระองค์ องค์ที่มีเรื่องราวเป็นตำนาน อยากเอามาเล่าให้ฟัง เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ครองราชย์ไม่นาน ไปดูกันว่าเป็นเพราะเหตุใด เรื่องราวเหล่านี้อยากให้ถูกบันทึกไว้ เพื่อจะได้ไม่สูญหายไปกับกาลเวลา

กษัตริย์ Tuan Mogang ว่ากันว่า มีชายาถึง 24 องค์ คือ วังของพระองค์ เรียกว่า Rumah Bolon (Long House) คือ รูปทรงจะยาวๆ ก็นะ นอนกันตั้ง 12 คน 2 ฝาก มันก็ต้องยาวสิ ส่วนอีกด้านเป็นฝั่งของกษัตริย์ คือกั้นแยกจากฝั่งผู้หญิง ก็มีเตียงประกอบกิจกรรมยามวิกาล นั่นก็คือ เล่นไพ่ เฮ้ย!! ไม่ใช่ ก็กิจกรรมสืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์นั่นแหละ โอโห้แล้วมีชายาตั้ง 24 องค์ เพลินน่าดูนะเนี่ย...

เรื่องของเรื่องคือ แต่ละวัน กษัตริย์ก็จะให้ชายาแข่งขันกันตำข้าว แบบออกลีลาท่าทางด้วยนะ ที่ตำข้าวก็คล้ายกับของบ้านเรา มีหลุม ใส่ข้าวลงไป แล้วก็มีไม้เอาไว้ตำๆ ทุบๆ นี่เชื่อแล้วว่าผู้หญิง Batak ทำงานหนัก ขนาดข้าว ยังใช้เมียตัวเองเลย - -“ ใครตำเก่ง ลีลาดี ก็จะได้รับการคัดเลือก โดยกษัตริย์จะให้ขันที (มีขันทีด้วย!!!) เอาหมากพลูไปให้ เป็นเครื่องหมายว่า คืนนี้ เจ้าเตรียมตัวเอาไว้



อันนี้ลานตำข้าว



Long House หน้าตาเรียบง่ายมากๆ นี่หรือคือวัง ตอนแรกที่ไปเห็นก็งงไปเล็กน้อย



ด้านใน มีครัวทำกับข้าวด้วย


เอาหล่ะ ใครเกิดความสงสัยบ้าง 'กษัตริย์มีชายาตั้ง 24 องค์ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน กษัตริย์จะไหวหรอ'

เรามีคำตอบ...ชาว Batak Simalungun เค้ามีเคล็ดลับ มันก็คือ ไวอะกร้า แบบ local!!!!!!!!!!!!!!

นี่ไม่ได้พูดเล่น เค้าเชื่อกันแบบนั้นจริงๆ สิ่งนี้เรียกว่า Bandrek (แบนเดร็ก) หรือแปลแบบให้เข้าใจเค้าจะเรียกว่า Spicy Ginger Tea สรรพคุณก็ออกแนวเป็นยาบำรุง ทำให้อายุยืน อะไรทำนองนั้น ว่ากันว่า Tuan Mogang ดื่ม Bandrek ทุกวัน โด๊ปกันทุกวันก็ว่าได้

อ้าว ไหนเธอว่ากษัตริย์อายุสั้นไง ก็ดื่ม Bandrek แล้วนะ ทำไมหล่ะ ข้อนี้ได้วิเคราะห์กันในรถทัวร์ บ้างก็ว่าถ้าเมียเยอะขนาดนั้น ยังไงก็ไม่ไหว (วะ) แต่มีเหตุผลหนึ่งของอาจารย์หญิงที่มีหัวคิด feminist อาจารย์บอกว่า เพราะเจ้าชู้ทำให้ผู้หญิงเสียใจไง เลยตายเร็ว (นั่น) คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนะ ขอให้นำไปวิเคราะห์กันต่อไป...

ถามว่าแล้ว Bandrek มันเป็นยาโด๊ปจริงหรอ ได้ผลจริงหรือเปล่านั้น ก็ขอตอบว่า จากที่ได้ดื่มไป 1 แก้ว ถูกแล้ว!! มีร้านขาย Bandrek ด้วย คือเค้าทำเป็นจุดชมวิว จิบชาไป ชมทะเลสาบไป ชื่อ Simar Jajunjung จริงๆ บรรยากาศดีมาก เสียดายที่วันที่ไปนั้น หมอกลงค่อนข้างจัด เลยไม่สวยแบบเต็มที่

Bandrek 1 แก้ว เสิร์ฟมาพร้อมกล้วยทอด 1 ชิ้น รสชาติของชาก็ออกเป็นน้ำขิงแบบเข้มๆ หน่อย เผ็ดร้อนทีเดียว เครื่องเทศอย่างอื่นที่ใส่ ดูแล้วคล้ายๆ เครื่องพะโล้ แต่ไม่รู้จักว่าชื่ออะไรบ้าง อ้อ...เค้าให้นมสดมาด้วย เผื่อใครจะเติม แต่เราว่าพอใส่นมแล้ว กลิ่นขิงมันหายไป ไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ สำหรับรูปถ่ายมาตอนที่กล้วยทอดยังไม่มา ในจานก็คือส่วนผสม ใครจะแกะลายแทงหาว่ามีอะไรแล้วเอาไปต้มกินบ้างก็ตามสบายเถิด แต่เค้าว่าขิงมันเป็นพันธุ์พิเศษที่ปลูกได้แค่แถบนั้นเท่านั้น



อะไรนะ ลืมตอบคำถามเรื่อง Bandrek ได้ผลยังไงบ้าง อยากรู้กันแต่เรื่องนี้สินะ ก็รู้สึกร้อนวูบวาบ แหะๆ (เว่อไปละแก) ก็เหมือนกินน้ำขิงอ่ะ มันมีฤทธิ์ร้อนอยู่แล้ว นอกนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว คืนนั้นก็หลับปกติ

เข้าใจตรงกันนะ

หรือว่าต้องกินประจำอาจจะเห็นผล (ในเชิงน้ำสมุนไพรนะ ไม่ใช่ว่าแค่ไวอะกร้า) แต่ว่าไม่ไหวอ่ะ เข้มเกินไป ขิงแบบแรงมาก

สรุป Bandrek ไม่อร่อยเท่าไหร่ ตอนกินนี่นึกถึงเต้าฮวยและปาท่องโก๋กรอบๆ มาก แต่วิวตรงที่กินนี่สิ มันทดแทนกันไม่ได้

ลุงหลาดบอกว่าลูกหลานของกษัตริย์ก็ยังอาศัยอยู่แถบใกล้ๆ วัง ตอนไปเที่ยวชมวัง ก็เห็นมีชาวบ้าน (แต่งตัวธรรมดามอซอ เลยนี่แหละ) มามองๆ อยู่ด้านหน้าทางเข้า ก็น่าจะเป็นลูกหลานกษัตริย์นั่นแหละ เค้าคงคิดว่าวังเป็นสมบัติของตระกูลเค้า อะไรแบบนั้น

ลุงไกด์เล่าด้วยว่าสัก 2-3 ปีก่อน รัฐบาลพยายามเข้ามาช่วยจัดการ คือจะโปรโมตวังให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบจริงๆ จังๆ มีการทำถนนใหม่ มีการสร้างห้องน้ำ สร้างอาคารไว้ขายของ แต่มีปัญหากับพวกลูกหลานกษัตริย์ยังไงก็ไม่รู้ รัฐบาลก็เลยทิ้ง ไม่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันยังเห็นอาคารห้องน้ำโทรมๆ เหลือไว้เป็นที่ระลึก เห็นแล้วเสียดาย

ก่อนจากกันวันนี้ ขอยั่วน้ำลายไว้ด้วยวิวสวยๆ ของ Lake Toba พระเอกของการเดินทางของเรา




อ่านแล้วชอบ ฝาก share blog นี้ไปด้วยนะจ๊ะ มีปุ่มเล็กๆ เป็นโลโก้ f อยู่ด้านล่างๆ ค่ะ ขอบพระคุณทุกท่าน

Wednesday, May 21, 2014

Berastagi Part II


เบอราสตากีเป็นเมืองเกษตรกรรม มีไร่และสวนปลูกผัก-ผลไม้ ต่างๆ อยู่ทั่วไป ดูเป็นเมืองสีเขียวดี ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมไร่ปลูกกะหล่ำและผักอีกหลายชนิด (ไปภูทับเบิกแล้วเค้าเพิ่งเก็บเกี่ยว ไร่เลยโล่งๆ เธอก็มาดูกะหล่ำอินโดนีเซียแทน ก็เก๋ดีนะ)



ดินที่นี่คงจะอุดมสมบูรณ์มาก



โชคดีวันนั้นฟ้าใส

แวะไปละลายเงินรูเปียกันที่ตลาดผักและผลไม้ที่เค้าบอกว่าใหญ่ที่สุดในจังหวัดเมดาน คาดหมายซะมาก แต่เล็กกว่าที่คิดแฮะ พ่อค้าแม่ค้าน่ารักดี เดินชม+ชิมไปเรื่อย ผลไม้เด่นของที่นี่คือ สลัก (Salak) มันคือญาติของสละที่เราคุ้นเคยนี่แหละ หน้าตาคล้ายกันสุดๆ แต่สลักมันไม่นิ่มและหวานเหมือนสละ คือกินกรอบๆ เลยนะ กัดทีกร๊วบกร๊าบ แล้วรสชาติก็เฝื่อนๆ แต่คนที่ชอบเค้าก็ว่าหวานละนะ แต่คงจะไม่ใช่สำหรับเรา ขอกลับมากินสละเมืองไทยให้หายอยาก ผลไม้ที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าบ้านเราจริงๆ และเนื่องจากไม่อร่อยเราเลยไม่ถ่ายรูปมา 55555








ปิดท้ายที่เบอราสตากีด้วยการไปวัด ไม่น่าเชื่อว่าศรัทธาของคนช่างเดินทางมาไกลเหลือเกิน ที่นี่มีวัดพุทธด้วย เป็นของชาวพม่า ประชากรอินโดนีเซียส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กับบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ คนพุทธเป็นส่วนน้อยจริงๆ แต่ก็ยังมาสร้างวัดเสียสวยงามที่เมืองเล็กๆ ไกลแสนไกล




Tuesday, May 20, 2014

Berastagi






เปิดหัวมาด้วยรูปเลย ภูเขาไฟที่ยังมีควัน!!!! เห็นกับตาเป็นครั้งแรกในชีวิต!!!! ขออนุญาตใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์หลายๆ ตัว มันตื่นเต้นจริงๆ

พระเอกของเราคืออำเภอเล็กๆ ที่ชื่อ เบอราสตากี (Berastagi) หรือที่บางครั้งใช้ว่า Brastagi คือคนเค้าจะอ่านออกเสียงเหมือนรวบเสียง เบอรา ไปเป็น บรา เลย ภาษาอินโดนี่พูดกันเร็วมาก รัวลิ้นเยอะๆ ด้วย ที่เราบอกว่าลงใต้ไปหาอากาศหนาว ก็มาพักที่เมืองเบอราสตากีนี่แหละค่ะ เมืองเบอราสตากีจะอยู่บนเขาหน่อยๆ อากาศจึงดีกว่าเมดาน นั่งรถออกจากเมดานเกือบมืดแล้ว ไต่ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ไปเบอราสตากีใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ถนนที่นี่แคบกว่าถนนเมืองไทย คือในตัวเมืองเมดานจะ 4 เลน แต่พอออกนอกเมืองมาก็จะเป็น 2 เลนสวนกัน แล้วถนนที่เมืองไทยจะทำไหล่ทางกว้างขวาง ที่อินโดนี่คือแทบไม่มีไหล่ทาง ข้างถึงก็เขา อีกข้างก็เหว เวลารถใหญ่ๆ สวนกัน คือ คนนั่งได้ลุ้นกันตลอด คนขับจะแซงรถช้ากันตลอด ไม่ว่าจะขึ้นเขาอยู่ หรือ ข้างหน้ามีทางโค้งที่มองไม่เห็นรถสวน โผล่หน้าออกไปก่อนละ ถ้าแซงได้ก็ไป ถ้ามีรถสวนมาก็ถูกตบไฟใส่หน้าแล้วก็หลบกลับเข้ามา อีกเรื่องคือ ทางขึ้นเขาทำไมถึงชอบทำเป็นโค้งหักศอกก็ไม่รู้ มันประหยัดพื้นที่หรือไง แล้วพอเลี้ยวไม่พ้น คุณแบมแบงก็ต้องวิ่งออกไปโบกรถและดูทางให้ เพื่อให้รถเลี้ยวไปได้ คือตอนจบทริปนี้ ก็มีการพูดขอบคุณคุณคนขับกับผู้ช่วย แล้วก็ให้ทุกคนปรบมือให้เค้านะ แบบเราว่าทุกคนปรบมือแบบจริงใจมากๆๆๆ ความรู้สึกแบบ ‘คุณทำให้เรารอดปลอดภัย’ ขอบคุณจริงๆ จากใจเลย

ตัวเมืองเบอราสตากีไม่ใหญ่มาก แต่ดูจะเป็นจุดชมวิวที่ฮิตพอสมควร มีโรงแรมอยู่หลายแห่งทีเดียว ที่พักของเราที่เบอราสตากีวิวเท่โคตรๆๆ เดินไปกินข้าวเช้าคือเห็นภูเขาไฟซินาบุง (Gunung Sinabung) พ่นควันปุ๋ยๆ เลย รูปข้างบนก็ถ่ายจากโรงแรมเลย มองวิวจากโรงแรมซินาบุงดูสวยและชิวดี การตื่นมาแล้วเจอภูเขาไฟอยู่ตรงหน้านี่มันครั้งแรกในชีวิตเลยนะ




เสริมความรู้นิดนึง ในประเทศอินโดนีเซียมีภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่อีกเกินร้อยลูก แต่เจ้าซินาบุงนี่ตามบันทึกบอกว่าปะทุครั้งล่าสุดช่วงปี 1600 จนอยู่ๆ เพิ่งมาปะทุปี 2010, 2013 แล้วก็ กุมภา 2014 ที่ผ่านมา นักวิชาการก็คาดการณ์ว่าเป็นผลมาจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2006 - ซินาบุง เจ้ายังไม่ตาย!!!!!

เพลินจริงๆ นะ นั่งมองภูเขาไฟ ไม่รู้ว่าเค้าให้ปืนขึ้นไปดูที่ปากปล่องภูเขาไฟหรือเปล่า ถ้าขึ้นไปได้ มันคงตื่นเต้นดี เป็นประสบการณ์แปลกประหลาดที่เราดีใจที่ได้ไปเจอ แต่ขนาดมองจากไกลๆ ภูเขาไฟยังดูยิ่งใหญ่และสวยงามมากจริงๆ

ไม่รู้ว่าสำหรับคนที่อาศัยอยู่ตรงนั้น เค้าจะชื่นชมความงามของธรรมชาติตรงหน้ามากแค่ไหน เหมือนว่าคนเราจะมีนิสัยอย่างหนึ่ง ที่มักจะมองสิ่งไกลตัว / ของๆ คนอื่น ของประเทศอื่น ว่าสวย แต่วิวที่เห็นทุกวันๆ ประจำ ความสวยความน่าชื่นชมมันดูจะลดลงตามเวลา

การที่คนเรามองว่าวิวตามที่ที่เราไปเที่ยวหรือไปเห็นเป็นครั้งแรก มันจะผสมไปด้วยความรู้สึกสำเร็จ fulfill ชั้นดั้นด้นมาถึงแล้ว ชั้นเก็บเงินทำงานหนักตั้งนานเพื่อทริปนี้ ชีวิตนี้อาจจะได้มาครั้งเดียว บลา บลา บลา พวกนี้เป็นสิ่งปรุงแต่งนะ แน่นอน โดย objective มันก็สวยแหละ เนื้อแท้ของธรรมชาติมีความสวยงามเสมอ ถ้าตัดสิ่งปรุงแต่งออกไป นั่งมองให้ลึกถึงความงาม ภาพนั้นจะประทับลงในจิตใจในแบบที่กล้องถ่ายรูปไหนก็ทดแทนไม่ได้ เคยเจอว่ามี IG account หนึ่ง ที่ลงรูปถ่ายมุมเดิมๆ หลังคาบ้านหลังเดิม ทุกๆ วัน เราว่าเค้าเท่ดี ที่สามารถมองเห็นความสวยงามของทิวทัศน์เดิมๆ นั้น ได้ทุกวัน

วันนี้ชั้นหนังสือ ออกแนวนามธรรม พอดีว่านั่งเขียนบันทึกนี้ในวันฝนตก เราเป็นผู้โชคดีนะ เป็น 40% ของพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา



Monday, May 19, 2014

First Step in Medan


การเดินทางชุด Indonesia นี้ เราเปลี่ยนจาก backpacker มาเป็นลูกทัวร์คนหนึ่งในคณะอาจารย์-นักศึกษา ที่มาทัศนศึกษา ตอนแรกที่รู้ว่าเค้าจะจัดทัศนศึกษาไปเกาะสุมาตรา เรารีบขอสมัครมาด้วยเลย Indonesia เป็นประเทศที่อยู่ใกล้ไทยมาก แต่เป็นประเทศที่เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับเค้าน้อยมาก นี่แหละเหตุผลที่เราอยากมา Indonesia พอมาแล้วก็ไม่ผิดหวังนะ ได้เปิดหูเปิดตาหลายๆ อย่างทีเดียว

อินโดนีเซียเป็นประเทศแบบหมู่เกาะ การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือเครื่องบิน จุดหมายของเราคือสนามบิน กัวลานามู (Kualanamu International Airport) ของเมืองเมดาน (Medan) บนเกาะสุมาตรา (Sumatra)

ข้อมูลแรกที่ได้รับคือ เมดานเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศอินโดนีเซีย รองจาก จาการ์ตา (Jakarta) เมืองหลวง กับ เมืองสุราบายา (Surabaya) ซึ่งอีก 2 เมืองนั้นอยู่บนเกาะชวา เท่ากับว่าในเกาะสุมาตราแล้ว เมดานนี่แหละ ผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุด เราเลยวาดภาพไว้ว่า มันคงต้องวุ่นวายแบบฉบับของสังคมเมือง บวกกับความกำลังพัฒนาตามแบบเมืองต่างๆ ในแถบอาเซียน แน่นอน

และแล้วความจริงก็ปรากฏ คนขับรถทัวร์ของคณะเดินทางชื่อ โดดี้ แล้วก็ผู้ช่วยชื่อ แบมแบง ภาพการจราจรในเมืองเมดาน พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ใช่คนท้องถิ่น และมั่นใจในฝีมือตัวเอง คงไม่กล้าขับเป็นแน่ คือมอเตอร์ไซค์เยอะมากๆๆๆๆๆๆ (ไม่กล้าบอกว่ามากหรือน้อยกว่าโฮจิมินห์ของเวียดนามเพราะยังไม่เคยไป แต่มันเยอะมากๆๆๆๆๆๆๆ นั่นแหละ) และแน่นอนว่า มอเตอร์ไซค์ (และรถยนต์) ไม่เคยหยุดให้ทางกันแบบใจดีๆ คือถ้าพี่ไม่ยื่นหน้าจนอีกทางเค้าไปไม่ได้ รถมันก็จะมาจากไหนก็ไม่รู้เรื่อยๆ แล้วทางเราก็จะไม่ได้ไปนั่นแหละ

ถนนในเมืองเมดาน ส่วนใหญ่เป็น 4 เลน ฝั่งละ 2 เลน แล้วทีนี้รถทัวร์ ถ้าจะกลับรถ มันไม่พ้นใช่ไหม คือจนรถทัวร์ยื่นหน้าไป 1 เลน รถยนต์อีกฝั่งต้องหยุดละ มอเตอร์ไซค์ยังไม่หยุดจ้า พรืดตัดหน้ารถทัวร์นั่นแหละ ผู้โดยสารคนไทยบนรถนี่ เสียวไปตามๆ กัน พอด้านหน้าโอเคแล้ว รถทัวร์จะต้องถอยหลังเพื่อให้กลับรถให้พ้นด้วย ด้านหลังก็ไม่หยุดรถเหมือนกันจ้า พวกนั่งหลังรถ ก็วี้ดว้ายขึ้นมา คือลุ้นไปทุกครั้งเลย

เวลาข้ามถนนก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน พอดีว่าทัวร์จะพาไปกินอาหารกลางวันที่ร้านหนึ่ง แต่เค้ากำลังทำทางเข้าใหม่อยู่ รถก็เลยเข้าไปส่งไม่ได้ คุณไกด์พาเดินข้ามถนนเลยจ้า เค้าสอนว่า วิธีข้ามถนนก็คือ ให้ยกมือด้านที่รถจะมาเหมือนแบบขอให้หยุด แล้วก็ภาวนาให้รถหยุดให้ เท่านั้นแหละ (อะไรจะธรรมดาสามัญขนาดนั้น) แล้วปกติเค้าคงจะข้ามกันครั้งละไม่กี่คนใช่ไหม แต่กลุ่มของเรานี่ จัดมาเต็มเกือบ 40 คน ชาวเมดานถึงกับมองว่า พวกเอ็งนี่ใครกัน มาทำอะไรกัน และสงสัยเพราะความสงสัยนี่แหละ รถเค้าเลยหยุดให้พวกเรา

Terima Kasih ค่ะ

มันก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เราไม่เคยเจอ แต่ให้ไปเจอบ่อยๆ ก็ไม่ไหวเนาะ หัวใจจะวาย และขออภัยที่ช่วงนี้ไม่มีภาพหรือคลิปประกอบนะ คือตอนนั้น ขอตั้งสมาธิกับสิ่งตรงหน้าก่อนค่ะ ของอย่างนี้ต้องลองค่ะ

ภาพนี้คือหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมดาน เด็กๆ ใส่เสื้อสีแดงกันหมดเลย น่ารักดี




ภาพนี้สามล้อเครื่อง ดูเก๋ไก๋ทีเดียว



ระหว่างทางผ่านตลาดสดยามเช้า ขายกันแบกะดินทีเดียว ลุงหลาดหรือชื่อจริงคือคุณลุงฉลาด (ไกด์คนไทย) บอกว่า จากประสบการณ์ ลูกทัวร์ชาวญี่ปุ่นจะชอบมาเที่ยวตลาดท้องถิ่น แบบตลาดสดมากกว่าชาติอื่นๆ คือเค้าจะสนใจอยากรู้ว่าตลาดท้องถิ่นแบบนี้จะขายอะไร เป็นยังไง

เมดานมีคลองน้ำเน่า!!



สุดท้ายบ่ายสี่โมงกว่าแล้ว เราก็ออกเดินทางจากเมดาน สิ่งสุดท้ายที่ได้พบปะสำหรับเมืองเมดานนี้คือ rush hour ช่วงเย็นค่ะ ถามว่ารถติดมากไหม ก็ไม่แน่ใจค่ะ เอาเป็นว่าหลับไปตั้งแต่รถติดนั่นแหละ ตื่นมาอีกที ข้างนอกเป็นทุ่งนาป่าเขาเสียแล้ว

อากาศที่เมดานจัดว่าเหมือนๆ ภาคใต้ของไทย แต่ฝุ่นควันมากกว่า เอาเป็นว่าร้อนเหงื่อออกนี่แหละ 1 คืนที่นี่ เรายังไม่ทันได้รู้จักกันดีพอ แต่เราก็ต้องจากเธอไปก่อน ขอเราลงใต้ไปตามหาอากาศหนาว และหมอกสวยๆ ก่อนนะ เออ ฟังดูงงดีไหม ลงใต้นะ แต่หนาว ทำไมน่ะหรอ โปรดติดตามตอนต่อไป



Saturday, May 17, 2014

Painting is all around


ในเมืองไทย การพ่นสีบนกำแพงดูจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ การพ่นกำแพงถูกมองเป็นพฤติกรรมของคนเกเรที่มักใช้พื้นที่สาธารณะประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของสถาบันการศึกษา ซึ่งสำหรับเราก็ไม่รู้สึกว่ามันได้ผลตรงไหน นอกจากจะทำให้คนรังเกียจซะมากกว่า ต่อมามีกลุ่มคนที่คิดดีขึ้นมาหน่อย รับวัฒนธรรมการสร้างศิลปะบนกำแพงจำพวกที่เรียกว่า graffiti (กราฟิตี้) เข้ามา ทำให้ความเป็นศิลปะในผลงานเหล่านั้น ดูมีทิศทางขึ้น แต่ก็ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มเฉพาะอยู่

บนเกาะปีนัง เกาะเล็กๆ ที่เหมือนจะไม่มี landmark อะไรไว้โปรโมต นำเอาศิลปะบนผนังมาเป็นจุดขาย เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดิน (หรือจะปั่นจักรยานก็ตามศรัทธา) เพื่อค้นหางานศิลปะที่หลบซ่อนอยู่ตามกำแพงบ้าน ตอนเราไปเที่ยวเกาะปีนัง ใช้วิธีหา app ท่องเที่ยวบน smartphone แล้วก็ไปเจอกับ app อันหนึ่ง ที่แนะนำเกี่ยวกับภาพวาดบนกำแพง ดูน่าสนใจดี ระยะทางก็พอเดินได้ น่าจะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน แต่ใครจะไปนึกว่าหายากนะเนี่ย เกือบเดินเลยซอยที่มีรูปบรู๊ซ ลี เตะแมวเหมียวซะแล้ว มาเอะใจตอนเห็นคนที่ดูเป็นนักท่องเที่ยวเดินออกมาจากซอยนั้น หนีหน่าวนะเฮีย! ดีใจที่ได้เจอ




เสน่ห์ของการเดินเล่น แบบสบายๆ นี่แหละ ที่ทำให้เราชอบปีนัง คือเมืองเค้าไม่ได้ใหญ่ ไม่ได้ซับซ้อน วุ่นวายเกินไป ไว้เราจะนั่งรถไฟไปหาคุณอีกนะ

จากปีนัง เราขึ้นเครื่องบินไปเกาะสุมาตรา (Sumatra) ประเทศอินโดนิเซีย จุดหมายของเราคือสนามบิน กัวลานามู (Kualanamu International Airport) ของเมืองเมดาน (Medan) 

เกาะสุมาตราดูตามแผนที่ เกาะนี้คืออยู่ใกล้แหลมมลายูมากที่สุด คือใกล้ไทยมากที่สุดแล้ว เราขึ้นเครื่องบินจากปีนังไปกัวลานามูแค่ข้ามช่องแคบมะละกาแค่นั้นเอง เรียกได้ว่าเป็นเที่ยวบินที่สั้นที่สุดในชีวิต เครื่องขึ้น แอร์รีบแจกใบเข้าเมือง นั่งยังไม่ทันง่วง อ้าว ประกาศให้เตรียมตัวแลนดิ้งแล้ว




สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นและประทับใจในอินโดนีเซียคือการทำผนังบ้านเป็นป้ายโฆษณาแบบสุดอาร์ต คือในไทยตอนนี้สิ่งที่ครองตลาดคงจะเป็นป้ายโฆษณาแบบพิมพ์ดิจิตอล ป้ายไวนิล แบบที่สีสันสวยงาม ภาพคมชัดมาก และใหญ่โตเกะกะบดบังทัศนียภาพสวยๆ ของท้องฟ้าไปหมด ถ้าจะให้ประกวดว่าประเทศไทยมีอะไรมากเนี่ย ขอส่งป้ายเข้าประกวด เป็นประเทศที่ติดป้าย (อะไรนักหนา) มากที่สุดในโลก ในมุมมองของเรา มันเยอะจนรก สำหรับที่อินโดนีเซีย ในเมืองเมดาน และตามเส้นทางขึ้นไป Lake Toba สิ่งที่สังเกตเห็นคือ เค้าระบายสีผนังบ้านทั้งด้านทำเป็นโฆษณา



ป้ายพวกนี้รู้สึกว่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม เพราะเห็นมักจะมีเครื่องหมาย 3G ประกอบกับโลโก้ social media จำพวก Facebook, Youtube เหมือนจะสื่อว่า 3G ของบริษัทเค้าเล่น social media ได้ สัญญาณแรง ชัดแจ๋ว อะไรทำนองนั้น

มันดูเป็นศิลปะดี เราให้ผ่าน!! คือเราเป็นเด็กที่โตมาในยุคป้ายวาดใช้ฝีมือคน ที่ชอบและจำได้ดีคือป้ายโฆษณาภาพยนตร์เข้าใหม่ที่จะติดตามสี่แยกไฟแดงต่างๆ คือไม่ใช่แค่เขียนตัวอักษรนะว่าหนัง เรื่องนี้ เรื่องนั้น เข้าฉายแล้ววันนี้ ที่ ไดอาน่า หรือ โรบินสัน แต่เค้าวาดภาพเหมือนใบปิดภาพยนตร์ด้วย บางอันนี่ใหญ่บิ๊กเบิ้ม แบบเห็นไปไกล 100 เมตร ได้ จำได้ว่าตอนไททานิคเข้าฉาย มีภาพแจ๊คกับโรสโต้ลมอยู่หัวเรือไททานิค เราชอบป้ายวาดแบบนั้น มันเป็นผลงานที่มีความทุ่มเท หยาดเหงื่ออยู่ในนั้น ไม่ใช่วาดกันง่ายๆ นะเราว่า ใช้เวลานานกว่าปัจจุบันมาก ที่แค่สั่งคอมพิวเตอร์ ภาพก็ออกมาสวยสดใส คมชัดแล้ว อันนี้แบบกว่าจะเสร็จสักภาพนึงต้องลงแรงไปเยอะ ซึ่งจริงๆ หน้าก็ไม่เหมือนลีโอนาโด เท่าไหร่หรอก  คือวาดออกมาดูแก่เชียว แต่มันก็เป็น local culture ดี เห็นแล้วก็เออ นี่แหละ ชั้นเติบโตมากับการดูหน้า    ลีโอนาโดแบบแก่ๆ 55555

เดี๋ยวนี้ วัฒนธรรมนี้เริ่มหาย อย่างที่บอก ทำป้ายไวนิลมันเร็วกว่า ได้ภาพที่เหมือนจริงกว่าอีกต่างหาก แต่พอเราไปเห็นผนังโฆษณาที่อินโดนีเซีย ทำให้เรานึกถึงอดีตสมัยเด็กๆ ประเทศเค้าอาจจะอยู่หลังประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาประเทศ แต่ความด้อยๆ พัฒนามันก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง แบบนี้บ้านเราเคยมีนี่ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรบ้าง การไปเที่ยวทำให้เราฉุกคิดเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้

ว่าแต่ว่า ไม่ได้ทดลองใช้ 3G ประเทศเค้า ไม่รู้ว่าจะดีกว่า-ด้อยกว่า บ้านเรายังไงบ้าง


Friday, May 16, 2014

ลอดช่องสิงคโปร์-ลอดช่องมาเลเซีย-ลอดช่องไทย


หัวข้ออะไรของแก๊.....หลายคนอาจจะถาม วันนี้เราจะมาไขปริศนาลอดช่องกันๆๆๆๆ


เราอ่านเจอมาว่าสิ่งที่คนไทยเรียกว่าลอดช่องสิงคโปร์นั้น มันไม่มีในสิงคโปร์ อารมณ์เดียวกับขนมจีนไม่มีในจีน (เพราะมันเพี้ยนเสียงมาจากภาษามอญ – ขนมจีนเป็นอาหารมอญ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศจีนหรือคนจีน) ข้าวผัดอเมริกันที่ไม่มีในอเมริกา (เพราะคิดขึ้นโดยคนไทย) โอเค ก็เข้าใจแบบนั้นมาตลอด


ต่อมา มีข้อมูลบอกว่า ที่เรียกว่าลอดช่องสิงคโปร์ ดั้งเดิมคือเป็นร้านขายลอดช่องแบบนั้นแหละ ตัวเส้นเขียวๆ ยาวๆ น้ำกะทิใสๆ กินกับน้ำแข็งไส อยู่แถวๆ เยาวราช อยู่ใกล้กับโรงหนังสิงคโปร์ ได้รับความนิยมมาก คนก็เลยเรียกว่าลอดช่องโรงหนังสิงคโปร์ จนกลายมาเป็นลอดช่องสิงคโปร์ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศสิงคโปร์แต่อย่างใด


แต่ว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่าลอดช่องไทยด้วยหนิ แบบที่ตัวจะสั้นๆ คล้ายๆ ลูกน้ำยุง สีจะเขียวแบบอี๋ๆ เลย มักกินกับแตงไทย เผือก ข้าวโพด แล้วเรารู้สึกว่าลอดช่องแบบนี้มันไม่เหมือนกับลอดช่องสิงคโปร์แบบที่มาจากลอดช่องโรงหนังสิงคโปร์นะ แสดงว่าสูตรลอดช่องสิงคโปร์นี่ ต้องไม่ใช่แบบเดียวกับลอดช่องไทย (เขียวอี๋) แล้วหล่ะ


เราเคยมีประสบการณ์ทำลอดช่องไทย (เขียวอี๋) – ผู้อ่านอาจจะสงสัย มันจะเขียวอี๋ทำไมทุกครั้ง (วะ) คือ เรากลัวสับสน ถ้าบอกว่าลอดช่อง แม้จะมีคำว่าไทย บางคนจะนึกออกแต่แบบลอดช่องสิงคโปร์ ก็เลยบอกเพื่อให้ภาพมันชัดขึ้น หรือทำให้ผู้อ่านงง หรือเรางงของเราเอง ... พอเถอะ ยิ่งเขียนยิ่งเลอะเทอะ เอาเป็นว่ามันมี 2 แบบนะ ต่างกันนะ ไปดูกันว่าลอดช่องไทย ทำอย่างไร


ลอดช่องไทยสูตรชาวบ้านที่อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่เขียวอี๋คือทำจากใบเตย เอาใบเตยมาตำในครกไม้ใหญ่ๆ ใหญ่ยังกะครกตำข้าวประมาณนั้นเลย พอได้เป็นน้ำๆ ก็เอาไปใส่หม้อที่ตั้งไฟเพื่อผสมกับแป้ง (ซึ่งจำไม่ได้ว่าแป้งอะไร แป้งข้าวเจ้านี่แหละมั้ง คิดว่า) แล้วก็ออกแรงกวน หรือ คน จนมันเข้าเป็นเนื้อเดียว อย่างเหนียวเลยนะ เสร็จแล้วก็ยกลงเอาไปใส่กระป๋องที่มีรูที่ก้น ทำเป็นตัวลอดช่อง หยอดลงไปในน้ำเปล่าธรรมดาๆ นี่แหละ ก็เสร็จแล้วตัวลอดช่อง ส่วนกะทิก็ขูดมะพร้าวเอง คั้นเอาน้ำที่หนึ่งกับน้ำที่สอง เอาน้ำกะทิไปต้ม ใส่ใบเตยลงไปด้วยเพื่อให้มีกลิ่นหอม ตักตัวลอดช่องมา ตักน้ำกะทิราด ใส่น้ำแข็งเล็กน้อย หวานเย็นชื่นใจดี สนุกด้วยนะทำเอง รู้สึกแบบกว่าจะได้กิน เหนื่อยมากอ่ะ มะพร้าวยังปอกเอง ขูดเอง ลอดช่องก็ทำเอง เหนี่อยแบบไม่อร่อยก็ต้องอร่อยละ ไม่ใช่สิ! มันอร่อยจริงๆๆๆๆๆ เชื่อเถอะ


ลอดช่องไทยก็ได้ทำ ลอดช่องสิงคโปร์ก็เคยกิน (ในเมืองไทย) ตอนไปเที่ยวสิงคโปร์กลับไม่เจอที่ไหนขายลอดช่องสิงคโปร์ (จริงๆ อาจเป็นเพราะเราอาจจะไปไม่ถูกจุดเองก็ได้) พอครั้งนี้จะไปเที่ยวปีนัง หาข้อมูลที่พักอยู่ดีๆ ไปเจอรีวิวคนที่ไปกินลอดช่องสิงคโปร์-มาเลย์ (ก็มันขายที่มาเลเซีย จะเรียกลอดช่องสิงคโปร์ก็เลยตะหงิดๆ ใจ เรียกแบบเหมารวมไปก่อนละกันนะ) อ้าว ชุดความรู้ถูกโต้แย้งแล้ว ไหนว่าที่สิงค์โปร์ไม่มีลอดช่องสิงคโปร์ แล้วเค้าเล่าว่ามันเป็นขนมหวานของคนจีนแถบมาเลเซีย-สิงคโปร์นี่แหละ แบบนี้ต้องไปพิสูจน์


โรงแรมที่พักอยู่ใกล้ร้านลอดช่องมาก นี่พอเข้าที่พัก อาบน้ำแล้วออกมาเที่ยวเล่น ไปร้านลอดช่องเป็นอย่างแรกเลยค่ะ


ซอยทางไปร้านลอดช่องมีป้ายของ CNN-GO ด้วย โห...โด่งดังขนาดนั้นเชียว ซึ่งก็จริง คือเลี้ยวเข้าซอยไปก็เห็นกลุ่มคนยืนมุงกันอยู่ตรงจุดๆ นึง อยู่ลิบๆ แบบฉันมาถูกที่แล้วหล่ะ เดินเข้าไปจนถึงหน้าร้าน คือที่เรียกว่าร้าน แต่อย่านึกภาพแบบบ้านห้องแถว มีโต๊ะนั่ง มีแปะขายของนะ มันเป็นรถเข็น 1 คัน แค่นั้นเลยจ้า คนจะกินที่ร้านก็ยืนกิน ไม่งั้นก็สั่งแบบกลับบ้านเค้าก็ใส่ถุงให้ ก็ยืนๆ มุงๆ กินๆ ดูคนอื่นกิน ดูอาตี๋ตักลอดช่องด้วยความเร็วแสง พร้อมสั่งงานลูกน้องเป็นภาษามาเลย์ แล้วหันมารับออเดอร์จากอาอึ๊มเป็นภาษาจีน สลับไป speak English กับลูกค้าชาติอื่นๆ แล้วก็พูดจีนกับลูกน้องอีกคน โว๊ะ นาย productive มากๆๆๆๆ ข้าน้อยนับถือๆๆ






ลอดช่องที่ปีนัง ถูกเรียกว่า Chendul ลองชิมแล้วก็เออ..มันคือลอดช่องสิงคโปร์แบบที่พี่ไทยเรียกนี่เอง แสดงว่ามันเป็นขนมที่มาจากคนจีนสิ อย่างที่ขายหน้าโรงหนังสิงคโปร์ก็คงมีที่มาจากคนจีน ไม่ใช่กำเนิดขึ้นในไทยแบบแท้ๆ สิ่งที่ต่างกัน Chendul ที่นี่ นอกจากตัวลอดช่องแล้ว ยังใส่ถั่วแดงต้มหวานๆ แบบที่คล้ายๆ ถั่วแดงในขนมญี่ปุ่นแบบนั้น กับน้ำตาลสีน้ำตาลๆ แบบที่ใส่ในเฉาก๊วย ลงไปด้วย



อาหารอย่างแรกบนเกาะปีนัง Chendul – ลอดช่องสิงคโปร์ในมาเลเซีย ได้ตอบคำถามเราแล้วว่า ลอดช่องน่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในภูมิภาคนี้ คือแต่ละที่อาจจะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันไปตามรสนิยม แต่หลักการค่อนข้างเหมือนกัน คือเป็นขนมทำจากแป้ง ราดน้ำกะทิ ใส่น้ำแข็ง ขีดเส้นใต้ห้าเส้นสำหรับคำว่า ใส่น้ำแข็ง เราว่าการได้กินอะไรเย็นๆ หวานๆ ในยามที่อากาศร้อน น่าจะเป็นวิธีคลายร้อนที่ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว


สรุปได้ว่า ที่ไทยเรียกลอดช่องแบบหนึ่งว่าลอดช่องสิงคโปร์ ก็คงมีที่มาจากชื่อสถานที่นั่นแหละ เพียงแต่ว่าเจ้าขนมชนิดนี้มันมีบนเกาะปีนังด้วย เราเลยอนุมานว่า มันต้องมี Chendul (ลอดช่องสิงคโปร์) ในสิงคโปร์ บ้างสิ เพราะคนจีนในมาเลเซียน่าจะมีความใกล้ชิดกับคนจีนในสิงคโปร์มากพอสมควร พอลอง google ดูเท่านั้นแหละ ว้าว!!! มีจริงๆ ด้วย เพียงแต่บางที่เค้าสะกดว่า Cendol เท่านั้นเอง ไว้ถ้าได้ไปสิงคโปร์จะไปลองชิมลอดช่องสิงคโปร์ในสิงคโปร์ดูสักที แต่ว่าถ้าใครได้มาเที่ยวปีนัง เราก็แนะนำให้ไปหาอาตี๋ร้าน Chendul รถเข็น นะ แค่ดูๆ การทำงานเค้าก็เพลินละ



ป.ล. ร้าน Chendul ดังกล่าว ยืนยันความอร่อยได้จาก ขนาดอาบังท้องถิ่น (คนเชื้อสายมาเลย์) ยังมาต่อแถวซื้อกลับบ้านไปกินเลย ไม่ใช่ว่าดังแต่ในหมู่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว

ป.ล.2 ร้านเค้าขายน้ำแข็งไสด้วยนะจ๊ะ เรียกว่า Ice Kachang ก็คล้ายๆ ลอดช่องนั่นแหละ แต่ดูจะมีเครื่องมากกว่า

ป.ล.3 ตอนหน้าจะพาไปถึงอินโดให้ได้ นี่แกยังไม่ได้เหินฟ้าข้ามน้ำไปเลย ติดอยู่ที่เรื่องของกิน

Friday, May 9, 2014

บันทึกรถไฟไทย ฉบับ รถไฟจะไปเมืองนอก


สมัยเด็ก เราคุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถไฟมาก เนื่องจากบ้านอยู่ใต้ การขึ้นกรุงเทพฯ ที่ปลอดภัยที่สุดในสมัยนั้น โดยเสียเงินแบบพอจ่ายได้ คือการนั่งรถไฟตู้นอนชั้นสองปรับอากาศ รถไฟจะออกจากหาดใหญ่ประมาณหกโมงครึ่ง (เย็น) และไปถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 11 โมง (เช้า) ส่วนเที่ยวล่อง ออกจากกรุงเทพฯ ประมาณบ่ายสาม ถึงหาดใหญ่ประมาณ 7 โมงเช้ากว่าๆ ขอย้ำ เวลาที่บอกเป็นการประมาณ เนื่องจากรถไฟไทย แน่นอน คำขวัญคือ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง การช้ากว่ากำหนดเป็นเรื่องปกติสามัญ จนเริ่มสงสัยว่าแล้วไอเวลาที่ระบุตามตั๋ว ที่ไม่เคยทำได้นั้น ใครมันเป็นคนวัด วัดเมื่อไหร่ ควรจะเปลี่ยนได้แล้วหรือยัง เฮ้อออออ..... ถอนหายใจยาวๆ หนึ่งที


ครั้งที่ช้าที่สุดนี่ยังจำได้ เป็นคราวขึ้นกรุงเทพฯ เข้าใจว่ามีอุบัติเหตุทำให้รถไฟไปไม่ได้ สว่างมาตอนเช้า ปกติจะเข้าหัวหินละ ได้กินกาแฟ ปาท่องโก๋ ครั้งนั้นตื่นมา คุณพระ!! สถานีสุราษฎร์ธานี แล้วจอดรอเคลียร์เส้นทางจนสายกว่าจะได้แล่นต่อ จำได้ว่าลงไปเดินซื้อของกินที่หน้าสถานีด้วย เงียบเหงาสุดๆ เพราะสถานีรถไฟมันไม่ได้อยู่อำเภอเมือง ถ้าจำไม่ผิดจะอยู่ในเขตอำเภอพุนพิน ซึ่งเป็นอำเภอเล็ก พอออกเดินทางได้ คราวนี้ก็ไม่มีอะไรทำสิ กลางวันด้วย จะนอนก็ไม่หลับแล้ว สรุปมาถึงกรุงเทพฯ 2 ทุ่มกว่าได้ เมื่อยแบบสุดๆ ใช้เวลาเดินทางเกิน 24 ชั่วโมงอีก!!!


ประสบการณ์กับรถไฟสายใต้นี่ มีเยอะมาก ทั้งนั่งกับพ่อแม่ กับกลุ่มเพื่อน และล่าสุดคือการตะลุยเดี่ยวไปเมืองนอกนี่แหละ สมัยเด็กๆ เคยรู้สึกว่าพี่เจ้าหน้าที่รถไฟที่จัดตู้นอนนั้น เท่มากๆๆๆๆ เค้าจะมีแท่งเหล็กอันนึง เอาไว้ไขเตียงด้านบน แล้วเค้าก็จะจัดเก้าอี้นั่งให้กลายเป็นเตียงนอน เอาฟูกมาปู มีม่านด้วย เราปลื้มมากๆๆๆๆๆ (เล่าไปเล่ามา ดูต่างจังหวัดมาก ยอมรับ ก็โตมาต่างจังหวัดนี่นา) ตอนเดินทางกับเพื่อนก็สนุกดี แต่ก็เสียงดังได้ไม่มาก พอปูเตียงแล้ว ก็เหมือนบังคับกลายๆ ให้ทุกคนเข้านอนนั่นแหละ


สำหรับบันทึกครั้งนี้ เป็นการเดินทางรถไฟครั้งล่าสุดของเรา ซึ่งเราจองตั๋วรถไฟจากกรุงเทพฯ ปลายทางสถานี Butterworth ประเทศมาเลเซีย ความเจ๋งมันอยู่ตรงที่เราจะได้นั่งรถไฟข้ามประเทศ!! ปกติคือนั่งมาใต้สุดก็แค่หาดใหญ่นั่นแหละ เคยสงสัยมาตลอดว่ารถไฟมันไปยังไงต่อ เพราะรถนอนสายใต้ 1 วัน จะมี 2 ขบวนหลักที่วิ่งถึงหาดใหญ่ ขบวนแรกออกจากกรุงเทพฯ ก่อน แต่ถึงหาดใหญ่ทีหลัง เรียกว่ารถยะลา ตัวโบกี้จะเก่ากว่า ที่นอนแคบกว่า นอนไม่สบายเท่า ดังนั้น ถ้าใครจะนั่งรถนอน แนะนำให้จองรถอีกขบวน คือ รถบัตเตอร์เวิร์ธ จะดีกว่า แพงกว่านิดเดียว แต่สบายกว่ากันเยอะ ไอเจ้ารถบัตเตอร์เวิร์ธนี่แหละ ที่อยู่ในใจเรามานานแล้ว ว่ารถมันวิ่งไปถึงมาเลเซียเลยหรอ (วะ) การเดินทางครั้งนี้จึงเกิดขึ้น อ่อ...โบกี้รถบัตเตอร์เวิร์ธเรียกอีกชื่อว่าตู้ Daewoo นะ คือมันเป็นของยี่ห้อแดวู รู้สึกว่าไทยจะไปซื้อต่อของเกาหลีมา และตู้โบกี้เหล่านั้น ก็ยังให้บริการตั้งแต่เราเด็ก จนปัจจุบัน คุณพระ!! คุ้มค่าจริงๆ


อุตส่าห์จองตั๋วตั้งแต่เนิ่นๆ กะว่าจะนอนรถบัตเตอร์เวิร์ธแบบสบายๆ พอวันเดินทางปรากฏว่า ตู้ Daewoo เสียจ้า เลยต้องเอาตู้เก่ารถยะลามาใช้แทน ฮือ น้ำตาจะไหล เมื่อยแน่ๆ ฉัน ตอนตรวจตั๋วเจ้าหน้าที่ก็เลยต้องไล่คืนเงินส่วนต่างให้ทีละคน

เอาหล่ะ เราข้ามเรื่องโชคไม่ดีไป มาเล่าเรื่องทั่วๆ ไป เผื่อเป็นประโยชน์กับคนเดินทางคนอื่นๆ ดีกว่า


รถไฟขาล่องใต้ อย่างที่บอก มันจะออกจากกรุงเทพฯ ช่วงบ่ายๆ ก็กินข้าวกลางวันมาให้เรียบร้อย สำหรับมื้อเย็น ใครหิวเร็ว ก็จัดไป นครปฐม ประมาณ 4 โมงครึ่ง อีกที่ก็ราชบุรี 5 โมงครึ่งได้ ก็มี ‘เตี๋ยว’ ราดรี ที่นับได้ว่าเป็น It’s a must. อย่างหนึ่ง คือมันมีชื่อเสียงมาก ขายมานานมาก และล่าสุดขณะที่ข้าวที่นครปฐมขายกล่องละ 40 บาทแล้ว เตี๋ยวราดรียังคงยืนหยัดขายอยู่ที่กล่องละ 10 บาท เหมือนเดิม แต่ก็สมราคาหล่ะนะ ผู้ใหญ่วัยกำลังกินก็น่าจะต้อง 2-3 กล่องนั่นแหละ สัมภาษณ์คุณป้าที่นั่งตรงข้ามกัน   ป้าบอกว่ามันไม่อร่อยเหมือนเก่าหน่ะลูก แต่ถ้าไม่เคยกิน ลองสักครั้งก็น่าสนใจมิใช่หรือ


เพชรบุรี เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยขายของแล้ว ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน แต่ก่อนมีชมพูเพชร ขนมหวานเพชร ขึ้นมาขายบนรถกันเลย คือ ขึ้นกันตั้งแต่ราชบุรี ไปลงเพชรบุรี อะไรแบบนั้น คิดว่าน่าจะเป็นเพราะการรถไฟเก็บค่าธรรมเนียมการขึ้นมาขายของแพง ตั้ง 300 บาท แหนะ ใครจะกินขนมหม้อแกงเพชร มีเจ้าหน้าที่รถไฟมาเดินขายอยู่ บอกว่าให้สั่งกับเค้า เดี๋ยวถึงเพชรบุรีจะเอาขึ้นมาให้ แต่ไม่มีขายบนรถแล้ว


ถึงหัวหิน จะประมาณพระอาทิตย์ตก (แล้วแต่ฤดูด้วย) เป็นสถานีที่คนขึ้นเยอะพอสมควร มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่บ้างเหมือนกัน พอสัก 1 ทุ่มกว่า เจ้าหน้าที่ประจำตู้ก็จะเริ่มปูเตียงให้ (จริงๆ ถ้าใครมาด้วยกัน นอนเตียงฝั่งเดียวกัน อยากให้ปูที่นอนก่อน ก็บอกเค้าได้นะคะ แต่เท่าที่สังเกต จะเริ่มไล่ปูทุกเตียงประมาณทุ่มครึ่ง)


แต่มันไม่ใช่อ่ะ ยังเร็วไปที่จะนอน โอเค ทางเลือกเดียวของคุณคือ ไปตู้เสบียงค่ะ รถไฟระยะไกลแบบนี้จะมีอยู่ 1 โบกี้ มักจะอยู่กลางๆ ขบวน ที่เป็นตู้เสบียง คือมีครัว สั่งอาหาร เครื่องดื่มได้ จริงๆ จะมีเจ้าหน้าที่มาเดินตามแต่ละโบกี้ ให้คนสั่ง เพื่อให้เสิร์ฟและกินที่ที่นั่งเราได้เลย ตรงที่นั่งจะสามารถเอาโต๊ะมาประกอบ แล้วใช้กินข้าวได้ (อเนกประสงค์ไหมหล่ะ โบกี้รถไฟ) ราคาอาหารก็แน่นอน ต้องบวกเพิ่มนิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับน่าเกลียด เทียบกับราคาอาหารในห้างในกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้นะ


จำได้ว่า สมัยเด็กๆ เห็นตู้เสบียงเป็นตู้ไม่มีแอร์นะ แต่ปรากฏว่า ปัจจุบัน เป็นตู้ติดแอร์ไปแล้วจ้า ส่วนครัวเค้าก็ทำมิดชิดดี ไม่มีกลิ่นรบกวนคนนั่งเท่าไหร่ ถือว่าโอเค แต่โต๊ะที่นั่งในตู้เสบียงจะมีไม่มาก อาจจะต้องไปรวมๆ กัน ก็เป็นโอกาสที่ได้พูดคุย รู้จักกับเพื่อนใหม่ซะเลย ถ้ามีชาวต่างชาติก็ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษไปด้วยนะ ตู้เสบียงจะปิด 5 ทุ่ม ก็นั่งชิวๆ ได้จนง่วงนั่นแหละ


เช้าสักที สรุปว่ารถไฟไปเมืองนอกของเรา ช้า 2 ชั่วโมงนะจ๊ะ ถึงหาดใหญ่นี่ 9 โมงเช้า พอดีกำลังหิว ก็ได้ข้าวเหนียวไก่ทอดของเด็ดประจำถิ่น อิ่มไป


ที่สถานีหาดใหญ่ รถไฟจะมีการตัดบางตู้ออก คือ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ ก็ลงที่หาดใหญ่นี่แหละ เป็นเหมือนชุมทางของคนใต้ หลายคนก็นั่งรถตู้ต่อไปต่างอำเภอ หลายคนก็ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะรถไฟจะออกจากประเทศไทยทางด่านปาดัง เบซาร์ (อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา) ไม่ผ่านปัตตานี ยะลา นราธิวาส ขบวนที่เรานั่งสรุปว่า มีแค่ 3 โบกี้ ที่จะได้ไปต่อ อ่อ มีการเปลี่ยนหัวรถจักรด้วยนะ เพิ่งมารู้ทีหลังว่า เปลี่ยนเป็นหัวรถจักรของมาเลเซีย


ออกจากสถานีหาดใหญ่ ระหว่างนั้น มีคนขึ้นมารับแลกเงินไทย-มาเลย์ ด้วย ใครไม่ได้แลกมา จะมาแลกตอนนี้เลยก็ได้ ไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงด่านชายแดนไทย-มาเลเซียแล้ว ขั้นตอนก็คือ เมื่อรถไฟจอด ทุกคนก็ต้องนำกระเป๋าสัมภาระลงทุกคน เดินเข้าไปในตึก ต่อแถวผ่านพิธีศุลกากรของไทย ซึ่งยังคงใช้วิธีเขียนใบ Departure กับ Arrival ขนาดเราที่เป็นคนไทยก็ต้องกรอก เราว่ามันล้าสมัยเสียเหลือเกิน ปั๊มออกจากประเทศไทย ก็เดินลากกระเป๋าไปอีกฝากของอาคาร ต่อแถวผ่านพิธีศุลกากรของมาเลเซีย ยื่น passport อย่างเดียว แล้วเจ้าหน้าที่จะให้เราสแกนนิ้วชี้ทั้งสองข้าง เป็นอันเสร็จ ปั๊มตรา โอเค อยู่ในมาเลเซียได้ 30 วัน ต่อมามีโต๊ะให้เราวางกระเป๋า เจ้าหน้าที่จะให้เปิดกระเป๋า เท่าที่เราเห็นรู้สึกจะเปิดทุกใบเลย ฉะนั้นกรุณาจัดกระเป๋าดีๆ อย่าเอาเครื่องชั้นในมาไว้หน้าสุดหล่ะ มิฉะนั้น คุณอาจจะต้องอับอายได้ คุณป้าคนนึงเอามะม่วงสุกมา จะเอาไปฝากลูกชาย เห็นตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่ให้เอาเข้า แต่ก็เถียงจนสำเร็จ เจ้าหน้าที่ยอม ป้าบอกทำไงได้ มะม่วงไทยอร่อยกว่าตั้งเยอะ ค่ะ..หนูไม่เถียงค่ะ จริง 100% ยิ่งมีข้าวเหนียวมูนนะคะ....โอ๊ย น้ำลายไหล เสร็จจากนั้นก็กลับขึ้นรถไฟเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่ พนักงานรถไฟของมาเลเซีย จะมาทำหน้าที่แทน มีคนตรวจตั๋ว มีเจ้าหน้าที่ประจำตู้มาขายน้ำชา กาแฟ ขนมปังปิ้ง เราไปยืนคุยกับพี่เค้าพักนึง พี่เจ้าหน้าที่รถไฟมาเลเซีย เป็นคนไทยค่ะ แล้วก็คุณน้ารถไฟไทย 2 คน ก็นั่งไปกับขบวนรถด้วย แต่ไม่ต้องทำงาน ก็เอาข้าวกลางวันมากินกัน ประมาณบ่ายโมง เวลาไทย ซึ่งเท่ากับ บ่ายสองของมาเลเซีย รถไฟก็ถึงสถานีปลายทาง เป็นอันจบประสบการณ์นั่งรถไฟไปเมืองนอกครั้งแรก ลง ณ สถานี Butterworth


เค้าบอกว่า ถ้าจะนั่งรถไฟต่อไปถึงกัวลาลัมเปอร์ หรือ สิงคโปร์ ก็ต่อรถไฟที่นี่ได้เลย น่ามาลองสักที ไว้โอกาสต่อไปค่ะ




Thursday, May 8, 2014

บริษัทจำกัด

คำเตือน: เนื้อหาวันนี้จะมีสาระมาก ใครอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่เข้าใจต่อไปเถอะนะ จะได้ไม่ปวดหัว 5555


เราไปเที่ยวปีนังมาค่ะ นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไป Butterworth แล้วนั่ง ferry ไปเกาะปีนัง


ปีนังถือเป็นเมืองธุรกิจ มีห้างร้าน โรงงานอยู่มากมาย ทำให้เราไปสะดุดตากับป้ายตามหน้าร้านค้าหรือโรงงาน จะบอกชื่อโน่นนี่นั่นไป แล้วจะลงท้ายด้วย SDN. BHD. เสมอๆ ถ่ายรูปมาไม่ทัน เพราะนั่งรถอยู่ อยากดูตัวอย่าง จิ้มไปที่ นี่ (ใช้ google ให้เป็นประโยชน์)


เราเกิดความสงสัย ดูจากบริบท มันน่าจะแปลว่า บริษัท อะไรทำนองนั้น แต่เราจะคุ้นกับคำว่า Co. Ltd. ที่ใช้กันในประเทศไทยมากกว่า เลยจดใส่สมุดเอาไว้ กะจะมาหาข้อมูลต่อ


SDN. BHD. ย่อมาจากคำในภาษามาเลย์ว่า Sendirian Berhad หมายความว่า private limited
ตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย บริษัทจำกัดต้องต่อท้ายชื่อด้วยคำนี้นั่นเอง แต่ทำไมต้องย่อซะตั้ง 3 ตัวอักษร นี่ก็ไม่รู้สิ ส่วนถ้าเป็น บริษัทมหาชนก็จะเป็น BHD. เฉยๆ คือ ไม่ private ว่างั้น (แต่เบอร์นาด เอ๊ย เบอร์หาดนะ - นึกถึงลุงขายถั่วยังไงไม่รู้ 555)


นึกขึ้นมาได้ว่า เออ ลองไปหาข้อมูลของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนดูบ้างดีกว่า คุ้นๆ เหมือนว่าที่สิงคโปร์เค้าก็มีคำย่อที่ไม่คุ้นตาเราอยู่เหมือนกัน


สิงคโปร์  ใช้คำว่า Pte. Ltd. ย่อมาจาก Private Limited ต่อท้ายชื่อบริษัท


อินโดนีเซีย  ใช้คำว่า PT ย่อมาจาก Perseroan Terbatas ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า Limited Company


ลาว  ใช้คำว่าบริษัทจำกัด เหมือนไทย แต่เขียนด้วยตัวอักษรลาวจะเป็นแบบนี้ >>>






เวียดนาม  เท่าที่อากู๋จะช่วยได้ รู้สึกจะใช้คำว่า Co. Ltd.


พม่า  ตามกฎหมายให้ใช้คำว่า Limited เป็นคำลงท้าย แต่บางบริษัทเห็นใช้คำว่า Private Limited ก็มี


กัมพูชา  กฎหมายระบุให้ใช้คำว่า Private Limited Company หรือ คำย่อที่เหมาะสม คือ Ltd. ก็ได้ (นี่ก็ย่อซะสั้นกุดเนาะ)


บรูไน  อ่าว สุดท้าย กลับไปใช้เหมือนมาเลเซียแฮะ เพราะบรูไนพูดภาษามาเลย์ (แต่คงมีสำเนียงเฉพาะตัวอยู่บ้าง) บริษัทจำกัดในบรูไน ห้อยท้ายด้วยคำว่า SDN. BHD. นะจ๊ะนายจ๋า



ชั้นหนังสือ ภาคอวตารเป็นนักกฎหมาย



My Life is actually on journey.

ห่างหายไปสักพัก เราไปเที่ยวในที่ซึ่งอินเทอร์เนตยังไม่ค่อยมีใช้เท่าไหร่ เกิดเรื่องราว เรื่องเล่า เป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิตเลย

นี่หล่ะ รสชาติของชีวิต เราเริ่มหลงรักการเดินทางคนเดียวแฮะ


ชั้นหนังสือ ภาค backpacker