Thursday, June 5, 2014

ขาบ


เราได้ไปงานเพื่อนบวชค่ะ ซึ่งเป็นมงคลมากเพราะแค่บวชก็ได้กุศลแล้วเพื่อนเรา เพราะทำให้เราเกิดความสงสัยและไปหาข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ “ขาบ

เรื่องของเรื่องคือ เพื่อนบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่วัดบวรฯ นี้ แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ หลายคณะ ก็มีการตั้งชื่อที่เป็นคำดีๆ เพราะๆ ทั้งนั้น เพื่อน (เรียกงี้ได้ สึกแล้ว) บวชที่คณะขาบบวร แล้วทำไมต้องขาบบวรหล่ะ

บวร ก็คงมาจากชื่อวัด แต่ ขาบนี้สิ ใครสักคนในกลุ่ม พูดขึ้นมาว่า มันเป็นสีหรือเปล่า “สีขาบ” ไง ซึ่งก็ดูเข้าเค้าเพราะมีอีกคณะหนึ่ง ชื่อ คณะเขียวบวร ด้วย

กลับบ้านเลยขอความช่วยเหลือจากอากู๋ (เกิ้ล) แล้วคำตอบก็ออกมาอย่างรวดเร็ว เฮ้ย!! นี่ถ้าเราไม่มีกูเกิ้ล ชีวิตเราคงยากขึ้นหลายเท่าตัว เป็นคำตอบที่ดูใกล้ตัวมาก แต่น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่รู้ (เหมือนเรา)

สีขาบ คือ สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง คือโทนสีที่อยู่ตรงกลางของธงชาติไทย – ธงไตรรงค์

เราก็เรียกสีน้ำเงินๆๆ มาตลอดชีวิต นี่ความรู้ใหม่จริงๆ ว่า เดิมแล้วรัชกาลที่ 6 ทรงเพิ่มสีขาบเข้าไปในธงเดิมที่เป็นแถบสีแดง-ขาว และเป็นธงชาติไทยในปัจจุบัน

ความรู้ดังกล่าวได้มาจากเว็บไซท์พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย ตามลายแทงไปตรงนี้เลย >> http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/thaiflag/newsite/detail.php?id=92


พิพิธภัณฑ์เค้าไม่ได้เปิดตลอด เลยจะขอรับสมัครเพื่อนๆ ใครสนใจ นัดวันเวลากัน ไปชมพิพิธภัณฑ์กัน!


Tuesday, June 3, 2014

Farewell Indonesia


วันนี้ปิดท้ายมหากาพย์เล่าเรื่องการท่องเที่ยว สรุปการเดินทาง เผื่อใครจะไปตามรอย (จะมีเหรอ) เส้นทางท่องเที่ยว เมดาน-บราสตากี-ปาราปัต เป็นเส้นทางแบบวงกลม ไปทางหนึ่ง แล้วขากลับผ่านอีกทาง แต่เข้ามาเมดานเหมือนกัน เพราะต้องไปขึ้นเครื่องบินกลับ




เส้นทางออกจากเมดาน ลงมายังบราสตากี ค้างหนึ่งคืน เที่ยวเล่นชมวิว ออกเดินทางต่อ แวะน้ำตกซีปิโซ-ปิโซ แวะวังบาตั๊ก แวะชิมแบนเดร็ก เข้าที่พักที่ปาราปัต ค้างคืน เช้าก็นั่งเรือไปชมเกาะซามอเซีย บ่ายพักผ่อน ค้างที่ปาราปัตอีกคืน เพื่อว่าเช้าตรู่ (เช้าจริงๆ กลุ่มเราออกจากปาราปัตกัน 6 โมงเช้า) จะออกเดินทางไกล กลับมาที่เมดาน ระหว่างทางเห็นเด็กๆ กำลังเตรียมตัวไปโรงเรียนกันด้วย

ทางขากลับ ดูผ่านความเจริญมากกว่าขามา ผ่านเมืองที่หน้าตาประมาณอำเภอเมืองของจังหวัดเล็กๆ ของไทย อย่างอุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน อะไรแบบนั้น และมาพบกับอาหารมื้อสุดท้ายในอินโดนีเซีย

มันก็คือ.....คือ.....คือ....คือ..... (จะต้องตื่นเต้นอะไรขนาดนั้น)


Nasi Padang


หรือเราตื่นเต้นไปคนเดียว ก็ก่อนมาได้ข้อมูลมาว่า ที่อินโด เค้ากินข้าวด้วยมือกันนะ นี่อยู่มา 4 คืนละ มีช้อนส้อม (มีด ในบางมื้อ) ครบถ้วนเลย มันยังไม่ถึงอินโดจริงๆ นี่นา

มื้อสุดท้าย ทัวร์ก็เลยจัดให้ซะเลย

Nasi แปลว่า ข้าว Padang เป็นชื่อเมืองหลวงของเขต West Sumatra อยู่ลงไปทางใต้จากเมดานซึ่งเป็น North Sumatra และติดทะเลทางทิศตะวันตก

Padang เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญบนเกาะสุมาตรา เป็นข้าวคุณภาพดีที่สุด Nasi Padang มีชื่อเสียงเลยทีเดียว ร้านที่เราไปกินชื่อ Simpang Tiga ร้านเค้าทำที่ล้างมือให้อย่างดี สะอาดสะอ้าน เราก็เลยคิดว่า เค้าเตรียมให้ขนาดนี้ ก็ต้องลองใช้มือกันหน่อยแล้วหล่ะ




ข้าวสวย เสิร์ฟมาในกระบุง รองด้วยใบตอง หอมกลิ่นใบตอง ทีเดียว กับข้าวของเรา มีไก่ทอด ปลาทอด แกงปลา แกงผัก ผัดพริกเครื่องในไก่ ล้างมือเรียบร้อยก็ลุยเลย!




ร้านสาขาที่เราไปกิน อยู่เมือง Perbaungun ทางทิศตะวันออกของเมืองเมดาน กินเสร็จก็ได้เวลาไปสนามบิน บ๊ายบายอินโดนีเซียทันที

ลงที่สนามบินปีนัง ก็นั่งรถบัสกลับเข้าหาดใหญ่ ไปแวะกินข้าวเย็นรสชาติไทยๆ ที่เมืองเล็กๆ ติดชายแดนฝั่งมาเลเซีย ผ่านเข้าไทยทางด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา

สวัสดี 3G ที่รัก เราไม่ได้เจอกันนานพอดูเลย ทุกคนบนรถดูมีความสุขที่ได้กลับมาเจอ 3G เมืองไทยเสียที ระหว่างการท่องเที่ยว อาศัยได้แค่ wifi ตามสถานที่ใหญ่ๆ อย่าง โรงแรม ร้านอาหาร ในอินโดนีเซียเท่านั้น แถมในบราสตากีกับปาราปัต wifi มีแค่ใน lobby เท่านั้น ไม่มีในห้องพัก เราก็เลยเห็นกลุ่มคนไทย ยืน นั่ง ก้มๆ กดๆ อยู่แถวหน้า lobby โรงแรม กันเป็นกระจุกๆ ทุกคนดูมีความพยายามที่จะเชื่อมต่อกับคนที่เมืองไทยซะจริง ที่ตลกคือหลังอาหารมื้อนึง ทุกคนกินเสร็จ ก็รอๆ การเข้าห้องน้ำกัน ตอนนั้นพอดีมีกรุ๊ปเรากรุ๊ปเดียว พนักงานร้านคงงง พวกแกกินเสร็จแล้วก็ออกมานั่งเล่นมือถือกันโดยพร้อมเพรียงขนาดนี้เลยหรอ คือ มันตลกดี คนราว 30 คน นั่งเล่นมือถือกันหน้าร้านอาหาร

ทั้งหมดทั้งมวล คือ บันทึกการเดินทาง ออกไปรู้จักเพื่อนบ้าน เป็นการต้อนรับ AEC ที่เข้าท่าดีนะคะ

ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ


Monday, June 2, 2014

Shopping Time


ผู้หญิงกับการซื้อของเป็นเรื่องคู่กัน หลักการทำทัวร์ให้ลูกทัวร์แฮปปี้คือมีจุดให้ชอปปิ้งกันได้อย่างสนุกสนาน และต้องเผื่อเวลาเอาไว้เล็กน้อย เพราะมันจะช้ากว่า schedule เสมอ

อันนี้คือคติที่เราได้จากการเก็บข้อมูลกลุ่มทัวร์ที่ไปด้วยกันทริปนี้ ทุกคนดูเพลิดเพลินกับการชอปปิ้งมาก เรียกได้ว่ามีลงรถตรงไหน ก็ต้องมีใครสักคนได้เสียเงินซื้อของหล่ะน่า ที่ว่าคนไทยติดอันดับนักชอปนี่ก็คงจะจริง พอรู้ว่าเป็นกรุ๊ปทัวร์จากไทย คนอินโดนี่ยิ้มเลย ประมาณว่า มาแล้วๆ ลูกค้าชั้นดี

ถามว่าสินค้าที่ซื้อกันมีอะไรบ้าง ก็จะเป็นสินค้าสไตล์คล้ายๆ ของทางภาคใต้ของไทย

1. Sarong - โสร่ง หรือ ผ้าถุง นั่นเอง
จริงๆ เรียกผ้าถุงก็ไม่ถูกเท่าไหร่ เพราะผ้าแบบนี้ เอาไปตัดเสื้อก็สวยอยู่ แต่แอบรู้สึกว่า กลับมาซื้อที่กิมหยง - หาดใหญ่ ดูสวยและเนื้อผ้ามีคุณภาพมากกว่านะ

2. Batik - บาติก
ก็เป็นผ้าวาดลวดลาย ใช้สีโทนสดใส ดูฝีมือช่างวาดที่นี่แล้ว ค่อนข้างเรียบง่ายและธรรมดากว่าของไทย ลายก็จะเป็นจำพวกดอกไม้ต่างๆ อ่อ แล้วก็มีบาติกอีกแบบที่ไม่ใช่การวาด แต่เป็นการมัดผ้าเป็นกระจุก แล้วเอาไปย้อมหลายๆ สี มันก็จะได้ลายแบบเหมือนจะเลอะๆ แต่ก็ดูมีศิลปะดี

3. งานไม้แกะสลัก
ชาวบาตั๊กมีฝีมือการแกะไม้ที่ดีพอสมควร สินค้ามีทั้ง รูปแกะสลักประเภทเอาไว้ตั้งโชว์ (ให้ฝุ่นจับเล่น) และทำเป็นของใช้เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ กล่องใส่ของ กำไล เป็นต้น

4. เสื้อผ้าสำเร็จรูป
เสื้อผ้าลวดลายแบบคนท้องถิ่นใส่กัน ก็มีให้ซื้อหากันทั่วไป แต่่เรารู้สึกว่าฝีมือการตัดเย็บยังสู้คนไทยไม่ได้ ความประณีตจะน้อยกว่า แต่ใส่แล้วก็ดูกลมกลืนกับพื้นที่ดี เสื้อผ้าคนมุสลิมจะเยอะหน่อย ก็เลยรู้สึกจะถูกใจเพื่อนร่วมทัวร์ เพราะหลายคนเป็นมุสลิม ก็ซื้อเป็นของฝากครอบครัวกันสนุกสนาน แล้วมีบางคนที่พูดภาษาอินโด-มาเลย์ได้ ก็เลยพอสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าได้

[เกร็ดความรู้ที่ 1] Bahasa Indonesia เป็นภาษาราชการของอินโดนีเซีย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับ Bahasa Malaysia คนไทยมุสลิมที่พูดมาเลย์ได้ จึงเข้าใจภาษาอินโดนีเซียได้บ้าง

[เกร็ดความรู้ที่ 2] คำว่า Bahasa ก็คือ Bhasa มีรากศัพท์มาจากคำสันสกฤต ที่คนไทยใช้กันว่า ภาษา นั่นเอง

5. ของที่ระลึกแบบยกแพ็ค
จำพวกพวงกุญแจ กระเป๋าใบเล็กๆ แม่เหล็กติดตู้เย็น และอื่นๆ เป็นของจำเป็น (ที่ต้องมีขาย) ตามแหล่งนักท่องเที่ยว ราคาก็จะแล้วแต่ต่อรองกันได้ ซื้อมากก็อาจจะได้ลด ที่แปลกคือ วัฒนธรรมการเขียนและส่งโปสการ์ด ดูจะยังไม่เข้าถึงที่นี่สักเท่าไหร่ หาร้านขายโปสการ์ดได้น้อยมาก...ถึงมากที่สุด ใครจะมาทำธุรกิจถ่ายรูปสวยๆ ทำเป็นโปสการ์ดขาย น่าจะเป็นโอกาสที่ดีเลยทีเดียว


-------------------------------------------------------------------------


กฎข้อที่หนึ่งของการชอปปิ้งที่อินโดนีเซีย (เมดาน-บราสตากี-ปาราปัต-เลค โทบ้า) คือ ต้องต่อราคา

กฎข้อที่หนึ่งของการชอปปิ้งที่อินโดนีเซีย (เมดาน-บราสตากี-ปาราปัต-เลค โทบ้า) คือ เริ่มต้นให้ต่อไปเลย ลดจากราคาที่เค้าบอก 70-80%

จริงๆ หลายคนบอกใครจะกล้าต่อขนาดนั้น มันก็ขนาดนั้นจริงๆ นะ ที่นี่ เค้าบอกราคาสูงมากๆๆๆ ไว้ก่อน เอาเป็นว่าถ้าเก๋าจริง ก็ได้ลดประมาณ 70-80% แต่ส่วนใหญ่ก็จะได้มาที่ประมาณ 50-60% ของราคาที่บอกเราตอนแรก

ปกติอยู่เมืองไทย ต่อได้ 10% เราก็ดีใจแล้วใช่ไหม ไปซื้อของที่โน่น ต่อได้ 50% นี่ยังเอามาอวดไม่ได้นะ ปกติมาก...

เวลารถทัวร์จอดตามจุดท่องเที่ยว หรือ ร้านขายของ ก็จะมีคนขายของแบบเดินเร่ เข้ามาขายด้วย มาเกาะกันข้างรถเลย ซื้อกันในร้านเสร็จแล้ว พวกนี้ก็ตามขายต่อ ใครซื้อคนแรกอาจจะเสียเปรียบหน่อย เพราะเหมือนเป็นคนประเดิม ซื้อแล้วกรุณาจากไป มิฉะนั้น อาจจะต้องช้ำใจ เพราะคนต่อๆ ไปที่ซื้อ มักจะได้ราคาที่ถูกลงไปอีก

ถ้าแยกกันซื้อ แล้วมาเจอเพื่อน เอ้ย...แกซื้อได้กี่บาท โอ้ย ถูกๆๆ ก็มีการตามไปซื้อบ้าง แต่อาบังไม่ยอมขายราคาถูกมากนั้นแล้ว ก็จ๋อยไป

หรือคิดว่าพอละ ไม่ซื้อละ บนรถตอนที่รอให้คนมาให้ครบ ก็จะเกิดมหกรรม "คนอวดของ" กันขึ้น

เนี่ย ผ้าพันคออันนี้สวยมาก ไปถามคนขายมานะ ว่าจะเอาแบบ best quality คนขายถึงกับไปหยิบมาจากหลังร้าน เพราะของมันจะแพงกว่าของทั่วๆ ไป ก็เลยไม่เอามาโชว์
ว้าวๆๆ สวยค่ะ สีสดใสมากเลยค่ะ คุณไกด์คะ ยังไม่ถึงเวลานัดใช่ไหมคะ ไปค่ะๆ คุณพี่ ไปซื้อกันบ้าง ราคาก็ไม่แพงด้วยนะคะ คุณภาพดีจริงๆ แล้วก็พากันลงรถไปซื้ออีก   นั่นหล่ะค่ะ

การนับคน (ว่าลูกทัวร์มาครบแล้วหรือยัง) เลยมีข้อควรระวังว่า อย่าคิดว่า เอ๊ะ คนนี้ เมื่อกี้เห็นขึ้นรถไปแล้ว ก็นับรวมว่ามาแล้ว ปรากฏ ลงไปซื้อตามเพื่อนอีก ก็มีค่ะ

อันที่จริง เรื่อง ความถูกของสินค้า ที่อินโด เราว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินรูเปียของเค้า ค่อนข้างอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท 1000 รูเปีย = 3 บาท โดยประมาณ ซื้อผ้าพันคอบาติก อย่างสวย ราคา 60000 ก็แค่ 180 บาท งี้ หยิบเงินแสนรูเปียออกมา เฮ้ย...แค่ 300 บาทเอง คือ มันทำให้เราคิดว่าอะไรๆ ก็ถูกไปหมด ทุกคนเลยดูชอปกระจาย แบบว่าไม่ต้องเอาเงินรูเปียกลับไทยกันเลย แลกมาแล้วนี่นา

สุดท้าย พอทุกคนขึ้นรถ เอาหล่ะ รถออกเดินทางต่อ ช่วงเวลา 15 นาทีแรกนั้น เรียกได้ว่าเป็นเวลาพักของไกด์กันเลยทีเดียว ลุงหลาดบอกว่า ไกด์ยังไม่ต้องพูดอะไรเลยนะ คือ พูดไปคนก็ไม่ฟังหรอก จะมาเล่าเรื่อง เออ...สถานที่ที่จะไปต่อนั้นเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ ตารางเวลาของเราต้องทำอะไรต่อไป ยังไม่ต้องเลย ทั้งรถจะเต็มไปด้วยเสียงจุ๊บจิ๊บๆ กับมหกรรม "คนอวดของ" อีกครั้ง

อุ้ย อันนี้สวยจัง... อุ้ย ซื้อฝากใครคะ สวยนะ ราคาเท่าไหร่หรอ...
อ๊ะ คุณพี่ซื้อได้ถูกกว่าด้วยหล่ะ...
อ๋อ ลายมันไม่เหมือนกันค่ะ...............

สรุปแล้ว Happy ค่ะ ทุกคนดู Happy กับการท่องเที่ยวครั้งนี้มาก เงินรูเปียเรา พอจ่ายค่าทิปคนขับรถกับไกด์ท้องถิ่นแล้ว ก็เหลือ 30000 รูเปีย ยังได้เอาไปซื้อชาไข่มุกกินที่สนามบินเลย ได้เงิน 1000 มาเป็นที่ระลึกพอดี สวยๆ


ปล. ก็ไม่ได้ตั้งใจจะขี้เม้าท์นะ..........
ใจบิ้วท์ นิ้วพิมพ์ ฮา............


Sunday, June 1, 2014

Samosir Part II


อีกหนึ่งหมู่บ้านที่เราได้ไปเยี่ยมชมบนเกาะ Samosir เป็นชุมชนใหญ่ ใหญ่ในที่นี้คือร้านขายของเยอะ เยอะจริงๆ เรียงราย 2 ฝั่ง ตามเส้นทางเลย คุณไกด์ถึงกับต้องบอกก่อนลงเรือว่า พอลงจากเรือแล้ว ให้เดินตามกันไปจนถึงจุดที่เป็นโลงศพพระราชาก่อน อย่าเพิ่งเถลไถลไปชอปปิ้ง เพราะเดี๋ยวจะปล่อยให้ชอปปิ้งฟรีสไตล์ภายหลัง

เดินๆๆ มาจนถึงที่เก็บศพพระราชา ที่นี่แปลกดี เค้าเก็บศพไว้ในโลงศพ (หิน) นะ แต่ไม่ได้เอาไปฝังใต้ดิน ก็วางอยู่บนพื้นนั่นแหละ




พระราชาองค์แรกของเผ่า เป็นคนรักสงบ ไม่เน้นต่อสู้ คอยดูแลให้ผู้คนอยู่ดีกินดี พระราชาองค์ที่ 2 เป็นหลานชายของพระราชาองค์แรก จากโลงศพของพระราชาองค์นี้ มีจุดที่น่าสนใจคือ รูปปั้นนูนต่ำที่อยู่ด้านหน้าของโลงศพเป็นผู้ชายสวมหมวก กับรูปปั้นนูนต่ำเป็นผู้หญิงตรงด้านท้ายของโลงศพ

หมวกที่ชายคนดังกล่าวสวมใส่ลักษณะเหมือนหมวกที่ผู้ชายมุสลิมใส่กัน เลยสันนิษฐานว่าพระราชาน่าจะมีที่ปรึกษาเป็นชายมุสลิมคนดังกล่าว

ส่วนหญิงสาวนั้น เรื่องเล่าบอกว่า เป็นคู่หมั้นของพระราชา แต่พระราชามัวแต่สนใจการรบ ขยายอาณาเขตของเผ่า ไม่ใส่ใจหญิงสาว เธอก็เลยไปรักกับผู้ชายอีกคนในหมู่บ้าน พอพระราชารู้เรื่องก็สั่งฆ่าคนรักของหญิงสาว หญิงสาวทราบเข้าก็ถึงกับคลุ้มคั่ง กลายเป็นคนบ้า วิ่งหายไปในป่า แล้วก็สาบสูญไปเลย ไม่มีใครพบศพ เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร ไปถามลุงหลาดนะ เราแค่เป็นพยานบอกเล่า

โลงศพอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของศาสนาคริสต์ในพื้นที่แถบนี้แล้ว มีไม้กางเขนประดับอยู่นั่นเอง

จบเรื่องสาระ เราก็ไปเดินชอปปิ้ง ก็สนุกสนานละลายเงินรูเปียดีค่ะ

กลับขึ้นเรือ ก่อนออกจากฝั่ง เกือบบ่ายโมงแล้ว ได้ตัวช่วยเป็น Indo Instance Mee เฮ!! ขึ้นมาขายเราถึงบนเรือเลยค่ะ มาม่าอินโดที่กินไปเป็นรสอะไรก็ไม่รู้ พยายามถามสื่อสารแล้วว่ารสอะไรแต่คุยไม่ถูก เอาเป็นว่าก็อร่อยดี

ช่วงบ่ายเป็นฟรีไทม์ เราก็เลยได้ละลายเงินรูเปียอีกครั้งกับ



แหะๆๆ...............................................................


จบทัวร์เกาะ Samosir กันด้วยภาพบรรยากาศอีกสักเล็กน้อย ตอนหน้าจะขอเม้าท์คุณนายและเพื่อนร่วมทัวร์กับเรื่องชอปปิ้งแบบจัดเต็ม